กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> ข่าวประชาสัมพันธ์
สวธ.ระดมความคิดเห็นเครือข่ายวัฒนธรรมเตรียมแก้ พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ เตรียมพร้อมขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร

วันที่ 16 พ.ย. 2560

          กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ศาสตร์และศิลป์ ถิ่น กทม. ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และแหล่งเรียนรู้เมืองไม้มหัศจรรย์ Woodland นครปฐม
 
          ในพิธีเปิดงานเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ประธานพิธีเปิดกล่าวว่า สวธ.เป็นองค์กรแห่งความรู้และส่งเสริมพลังการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเพื่อความภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยได้ขยายเครือข่ายการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมทุกระดับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบของ "สภาวัฒนธรรม” ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ถือได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมโดยภาคประชาชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ปัจจุบันมีสภาวัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สภาวัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรมอำเภอ สภาวัฒนธรรมตำบล สภาวัฒนธรรมเมืองพัทยา และสภาวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ เป็นต้น สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จำนวน ๑ แห่ง สภาวัฒนธรรมเขต จำนวน ๕๐ เขต และสภาวัฒนธรรมแขวง จำนวน ๑๙ แขวง
 
          "เพื่อให้การขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมของสภาวัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงเห็นควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” อธิบดีสวธ. กล่าว
 
          ด้าน นายประดิษฐ์ โปซิว รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๕ ให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมในสภาพสังคมปัจจุบัน รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ในการจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้แก่เครือข่ายวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เกิดการบูรณาการร่วมกันในการส่งเสริมและสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาฯ ขององค์กรภาคีเครือข่ายวัฒนธรรมในพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย คณะกรรมการ สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการ สภาวัฒนธรรมเขต ๕๐ เขต คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแขวง ๑๙ แขวง ผู้แทนสำนักงานเขต ๕๐ เขต ผู้แทนสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนกรมสารนิเทศ ผู้แทนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ คน
 
          นอกจากกิจกรรมการประชุมรับฟังคามคิดเห็นเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.วัฒนธรรมฯ แล้ว ในวันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ บริเวณลานกลางแจ้ง และหอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมงานยังได้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ศาสตร์และศิลป์ถิ่น กทม. ประกอบด้วย การสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมใน กทม. ได้แก่ การสาธิตจัดพิธีสงกรานต์มอญ โหราศาสตร์จิตรกรรมไทย นวดสุขภาพกาย สุขภาพใจ แบบวิถีไทย การทำน้ำสมุนไพร การทำน้ำแข็งไสโบราณ การทำข้าวเกรียบว่าวโบราณ ทำยาหม่องน้ำ ผลไม้แช่อิ่ม ข้าวโพดคั่วโบราณ กวนกาละแมโบราณ มะม่วงน้ำปลาหวาน ขนมลูกชุบ ขนมฝรั่งกุฎีจีน ขนมสายบัว ขนมครกสยาม ผัดไทย ขนมเบื้องญวน โรตี ชาชัก หมูสะเต๊ะ หอยทอด ข้าวแช่ ตำส้มตำ และยังได้เรียนรู้กับงานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ การเขียนลายรดน้ำ ทำหัวโขน ทำพวงมโหตร ทำพวงมาลัยมะกรูด สานปลาตะเพียน แทงหยวก ทำว่าวใบไม้ ทำขันลงหิน ทำบาตร ทำสมุดข่อย ทำเครื่องดนตรีไทย (ขลุ่ย) และยังได้ตื่นตาตื่นใจสนุกสนานไปกับการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ มวยคาดเชือก ของเล่นพื้นบ้าน กระบี่กระบอง รำดาบสองมือ การเล่นเด็กไทย นอกจากนี้ยังได้เพลิดเพลินกับการแสดงทางวัฒนธรรมที่หาชมได้ยาก ประกอบด้วย ละครชาตรีบางกอกถิ่นสนามควาย เพลงขอทานกระยาสารท เชิดสิงโต หุ่นสาย กลองยาว ปี่พาทย์มอญ และการแสดงกระตั้วแทงเสือ เป็นต้น
 
          และในวันสุดท้ายของโครงการฯ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เครือข่ายทางวัฒนธรรม ยังได้ร่วมกิจกรรม "รักษ์วัฒนธรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้มรดกภูมิปัญญา คุณค่าแห่งศิลป์ถิ่น กทม.” ณ แหล่งเรียนรู้เมืองไม้มหัศจรรย์ Woodland อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อีกด้วย
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)