ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดการสัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานระหว่างศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชต้นแบบ กับแหล่งเรียนรู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ โรงแรมทาวน์ อิน ทาวน์ กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ประธานสัมมนา กล่าวว่า โครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชนี้เป็นการดำเนินงานวัฒนธรรม โดยภาคชุมชนและ ภาคเอกชนอย่างแท้จริง การสร้างแหล่งเรียนรู้ของชุมชนให้ยั่งยืนนั้นย่อมต้องมีปัญหาและอุปสรรค การสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นการสนับสนุนองค์ความรู้และส่งเสริมให้แหล่งเรียนรู้ ในโครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชได้รวมตัวเป็นเครือข่ายในวงกว้างเพื่อให้เกิดพลังในการดำเนินงานในอนาคตต่อไป การเข้าร่วมโครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช นอกจากจะมีเป้าหมายในการอนุรักษ์ ถ่ายทอด และพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ในการทรงงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย
ด้าน นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ ผู้อำนวยการกองกิจการเครือข่ายทางวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดตั้งโครงการ "ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช และเจริญรอยตามพระราชกรณียกิจด้วยการส่งเสริมประชาชนในท้องถิ่น ให้เป็นผู้รวบรวมมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์ ถ่ายทอดวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อนำไปพัฒนามรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เกิดรายได้ซึ่งจะนำไปสู่ความอยู่ดี กินดี และความมั่นคงของประเทศต่อไป
ปัจจุบันมีแหล่งเรียนรู้ที่เข้าร่วมโครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๑ แห่ง ซึ่งมี ๑๕ แห่งที่มีการพัฒนาและมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นสถานที่เผยแพร่พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างแท้จริง จึงได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชต้นแบบ สมควรนำแนวคิด ผลการดำเนินงาน และประสบการณ์แบ่งปัน กับแหล่งเรียนรู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พ.ศ. ๒๕๕๙ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน นางสาววราพรรณ กล่าว
การสัมมนาในวันนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสนับสนุนให้แหล่งเรียนรู้ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ได้นำความรู้ไปพัฒนา ปรับปรุงการการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้เกิดเครือข่ายระหว่างแหล่งเรียนรู้ในโครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชที่จะดำเนินงานให้สอดคล้องกันในอนาคต โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช แหล่งเรียนรู้ในโครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวนทั้งสิ้น ๙๖ คน
กิจกรรมการการสัมมนาในช่วงสามวัน ประกอบด้วย การอภิปรายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง "การถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และการจัดกิจกรรมในศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช” และการอภิปรายเรื่อง "การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” โดย ผู้แทนศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชต้นแบบ ๘ แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชคลองแห วัดจันเสน แสนเมืองมา ควนชะลิก วัดพระธาตุดอยสะเก็ด หนังใหญ่วัดขนอน พิพิธภัณฑ์เมืองโพนพิสัย ตำบลหน้าถ้ำ นอกจากนี้ผู้แทนศูนย์วัฒนธรรมฯ และแหล่งเรียนรู้ยังได้มีโอกาสไปทัศนะศึกษาตัวอย่างหน่วยงานที่มีการดำเนินด้านแหล่งเรียนรู้อย่างมืออาชีพ คือ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ , นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร และในวันสุดท้ายของการสัมมนา ยังได้มีโอกาสเรียนรู้การประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ ดอกดารัตน์ เพื่อมีส่วนร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและนำไปใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในโอกาสต่อไป |