search
ข่าวสาร
>>
ข่าวประชาสัมพันธ์
สวธ.กระชับสัมพันธ์ไทย-จีน สานวัฒนธรรมร่วม ไตลื้อสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน
วันที่ 19 ม.ค. 2560
เมื่อ ๑๓-๑๗ มกราคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้นำคณะผู้บริหารงานวัฒนธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา สมาคมไทลื้อจังหวัดพะเยา ไปร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารของเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า สวธ.ได้ดำเนิน โครงการเชื่อมสายสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง (Sister City) ในมิติวัฒนธรรมชาติพันธุ์ (ไทย-ไตสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน) ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ ส่งเสริมความร่วมมือในด้านสังคม วัฒนธรรม ด้วยการสร้างความตระหนักและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้มีความรู้ ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองและวัฒนธรรมร่วมระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้นโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมตามกรอบความร่วมมืออาเซียน+๓ (ASEAN+3)
นางพิมพ์รวี กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำโครงการตามกรอบความร่วมมือดังกล่าว อาทิ โครงการความร่วมมือด้านวัฒนธรรมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา รวมทั้งได้จัดตั้งเครือข่ายมรดกวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกลไกความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างอาเซียนและจีน เกาหลี ญี่ปุ่น, การจัดแสดงดนตรีซิมโฟนีออเคสตรา ระหว่างอาเซียนและจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งการเยือนเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนาจะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านวัฒนธรรม เครื่องแต่งกาย ภาษา ศิลปะ การแสดง และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้ทั้งสองประเทศได้เชื่อมความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง (Sister City) ระหว่างกันอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น
"ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาและได้อพยพเคลื่อนย้ายลงมาส่วนหนึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอเชียงคำ และอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา การเดินทางมาเยือนเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา ทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมชาติพันธุ์ไทลื้อระหว่างกัน ทั้งด้านวิถีชีวิต ภาษา ศิลปะการแสดง การแต่งกาย ผ้าทอ อาหาร สถาปัตยกรรม รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประโยชน์ที่ได้รับกลับมาจะถูกนำไปพัฒนาและฟื้นฟูวัฒนธรรมไทลื้อให้เข้มแข็ง มั่นคง และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น” และจะส่งผลให้วัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไทลื้อได้รับการอนุรักษ์ สืบสาน และถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกหลานอย่างยั่งยืนต่อไป ดังเช่นความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ๒ ประเทศ ไทยและจีนที่วัฒนาถาวรตลอดมา อธิบดีสวธ.เผย
อนึ่ง โครงการเชื่อมสายสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องในครั้งนี้ นายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ให้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นจากการที่จังหวัดพะเยาและเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา ได้ดำเนินการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง (Memorandum of Understanding : MOU) เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๘ ณ เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา เพื่อแลกเปลี่ยนการเยือนและสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกัน รวมทั้งส่งเสริมความมั่งคั่งและการพัฒนาร่วมกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกันในฐานะเป็นเมืองพี่เมืองน้อง (Sister City) ในด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และอื่นๆ
การเชื่อมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ในครั้งนี้ จังหวัดพะเยา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สมาคมไทลื้อจังหวัดพะเยา และเครือข่ายทางวัฒนธรรม นำศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมไทลื้อ (ไทย) มาจัดแสดงร่วมกัน โดยเป็นศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไทลื้อเป็นศิลปะการแสดงที่แสดงออกให้เห็นถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมอันดีงามของ ชาติพันธุ์ไทลื้ออันมีมาอย่างยาวนาน คือ ๑.ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ตบมะพาบ ๒.ขับลื้อ ๓.ขับเกี้ยวบ่าว-สาว ในด้านวัฒนธรรมการแต่งกาย มีการนำผ้าทอ เครื่องแต่งกายของชาติพันธุ์ไทลื้อมาจัดแสดง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ได้มีการเยี่ยมชมผลงานทางวัฒนธรรม ศึกษาศิลปวัตถุ การฝึกอาชีพของชาวไตลื้อ บ้านเรือน อาหาร ตลอดจนวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของชาวไตลื้อในสิบสองปันนา เพื่อจะได้นำองค์ความรู้ในทุกด้านไปปรับใช้ และร่วมกันในการอนุรักษ์อัตลักษณ์อันโดดเด่นของชาติพันธุ์ไทลื้อหรือไตลื้อให้คงอยู่ไปถึงรุ่นลูกหลาน
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์
|
นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
|
นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์
|
การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)