กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> ข่าวประชาสัมพันธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรการแสดงเกร็ดโขน ตอน ความโศกาของนางมณโฑ (Melancholy of Mandodari)

วันที่ 9 มิ.ย. 2568

     วันเสาร์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๘ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๗.๐๐ น. ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงเกร็ดโขน ตอน ความโศกาของนางมณโฑ (Melancholy of Mandodari) โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กราบบังคมทูลรายงาน พร้อมด้วยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพวงมาลัย ในโอกาสนี้ มีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษา และข้าราชการ เฝ้า ฯ รับเสด็จ
 
     การแสดงเกร็ดโขน ตอน ความโศกาของนางมณโฑ (Melancholy of Mandodari) เป็นการนำเสนอและตีความเรื่องราวของนางมณโฑในรูปแบบร่วมสมัย โดยมีนายจิตติ ชมพี ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์โครงการเกร็ดโขน ร่วมกับคณะศิลปิน กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม สร้างสรรค์การแสดงนี้ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๗๐ พรรษา
 
     ทั้งนี้ การแสดงเกร็ดโขน ตอน Melancholy of Mandodari เป็นผลลัพธ์จากการตีความที่ลึกซึ้งโดยอาศัยการออกแบบการแสดงกลั่นกรองจากบทละครและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักแสดงศิลปินโขนอย่างละเอียด เพื่อค้นหากระบวนการนำเสนอเนื้อเรื่องและบทบาทของตัวละครหญิงและเหล่าสรรพสัตว์ต่าง ๆ ในรามเกียรติ์ หรือเหตุการณ์ที่สามารถนำมาตีความใหม่ผ่านการเคลื่อนไหวได้ ยิ่งไปกว่านั้น มีการใช้ดนตรีประกอบการแสดงโขนโดยยึดหลักแบบจารีตเพื่อนำมาเน้นเรื่องบทบาทของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง พร้อมทั้งการออกแบบเสียงอย่างมินิมอล (minimalism music) รวมไปถึงการจัดวางฉากและภาพที่ไม่เป็นไปตามขนบเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกัน จากเรื่องราวของนางมณโฑและตำนานสัตว์ในมหากาพย์รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นการผลักดันขอบเขตของการแสดงโขนไปสู่แนวทางใหม่
 
     ช่วงท้ายของการแสดง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานช่อดอกไม้แก่นายจิตติ ชมพี ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์โครงการเกร็ดโขน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า และสืบสานการแสดงโขนในรูปแบบร่วมสมัยให้ดำรงอยู่ในใจของประชาชนรุ่นใหม่อย่างงดงามและยั่งยืน
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)