search
ข่าวสาร
>>
ข่าวประชาสัมพันธ์
สวธ.ร่วมกับ มธ.จัดอบรมทักษะการบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
วันที่ 25 ต.ค. 2566
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ขึ้น เพื่อการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน พัฒนาศักยภาพ และสร้างความรู้ความเข้าใจ อีกทั้งสร้างแนวทางในการบริหารจัดการ เพื่อการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้กับผู้ปฏิบัติงานตลอดจนกลุ่มคน ชุมชน องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ให้มีการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามมาตรการสงวนรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย บุคลากร ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมทั้งนักวิชาการ องค์กรหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ชุมชน สถาบันการศึกษา และสภาวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง และมีความสนใจงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมในภาคทฤษฎี ๗๕ คน และในภาคปฏิบัติ จังหวัดราชบุรี – เพชรบุรี จำนวน ๓๙ คน โดยมี นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้เกียรติ เป็นประธานเปิดงาน โอกาสนี้ ผู้แทนคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ และบุคลากรผู้ที่เกี่ยวข้องของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมงาน ณ โรงแรม เดอะ กราฟ โฮเท็ล กรุงเทพมหานคร
นางสาววราพรรรณ รองอธิบดี สวธ. กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะผู้ดำเนินการหลักในด้านการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ปัจจุบันมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ผลักดันจนสามารถขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก มีจำนวน ๓ รายการ คือ โขน นวดไทย และโนรา และยังมีรายการที่เตรียมขึ้นทะเบียน ในต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ ได้แก่ สงกรานต์ในประเทศไทย รวมถึงรายการที่รอการพิจารณาในปีต่อไปคือ ต้มยำกุ้ง และมรดกร่วมเคบายา และที่เสนอรอรับการพิจารณาเพิ่มเติม ได้แก่ ผ้าขาวม้า และอยู่ระหว่างเตรียมการเสนอของประเทศไทย จำนวน ๓ รายการ ได้แก่ มวยไทย ชุดไทยพระราชนิยม และประเพณีลอยกระทง นอกจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมข้างต้นแล้ว ยังมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอีกหลายรายการที่มีศักยภาพและชุมชนแสดงความประสงค์ ที่จะสืบทอดและพัฒนาไปสู่การขึ้นทะเบียนทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีการสงวนรักษาในระดับท้องถิ่น ตลอดหลายปีที่ผ่านมากรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในระดับชาติ จำนวน ๓๖๘ รายการ ครอบคลุมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งในด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ศิลปะการแสดง แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล งานช่างฝีมือดั้งเดิม การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว การนำเสนอคุณค่าสาระสำคัญมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเหล่านี้ นอกจากจะแสดงให้นานาชาติเห็นถึงเอกลักษณ์ของชาติไทยแล้ว ยังส่งผลทางด้านสังคม วัฒนธรรม ทำให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง และร่วมมือร่วมใจกันรักษาสืบทอดให้คงอยู่ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน นอกจากนี้ยังส่งผลทางด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ มีส่วนช่วยยกระดับความเป็นอยู่และความสุขของคนในชาติสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การอบรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรการอบรมที่ออกแบบ เพื่อเสริมสร้างความรู้พื้นฐานในการดำเนินงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นอกจากผู้เข้าอบรมที่เป็นบุคลากรกรมส่งเสริมวัฒนธรรมแล้ว ยังเชิญนักวิชาการและตัวแทนชุมชนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จะร่วมทำงานกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมในอนาคตมาร่วมรับความรู้เพื่อพัฒนาขับเคลื่อนงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจมา ณ โอกาสนี้ รองอธิบดี สวธ. กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นางมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผอ.สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมในโครงการ ฯ จะได้ศึกษาข้อมูลรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ และความจำเป็นในการจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะการบริหารจัดการเพื่อการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในภาคทฤษฎี ระหว่างวันที่ ๒๕- ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ ณ โรงแรมเดอะ กราฟ โฮเท็ล กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนากาของแนวความคิด ความหมาย และลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นิยามศัพท์ที่เกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามนัยของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. ๒๐๐๓ ของยูเนสโก แนวคิด และทฤษฎีเกี่ยวกับการจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตลอดจนหลักและกระบวนการในการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งในระดับชาติและยูเนสโก และภาคปฏิบัติ ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ ณ จังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี และระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน – ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ ณ จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาและสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้อบรมนำความรู้จากการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนผู้สืบทอด มาฝึกปฏิบัติวิเคราะห์โครงการ เพื่อการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชน และจัดทำชุดคู่มือพัฒนาทักษะการบริหารจัดการเพื่อการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยทำเป็นหนังสือในรูปแบบ E-BOOK เพื่อเผยแพร่แนวทางการ พัฒนาทักษะการบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้แก่ผู้สนใจทั่วไปในช่องทางต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมต่อไป
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์
|
นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
|
นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์
|
การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)