วันที่ ๑๓ เมษายน ๖๖ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เนปาล สาธารณรัฐเกาหลี ตีมอเลสเต ศรีลังกา จีน อินเดีย แม็กซิโก ลาว และอินโดนิเซีย โดยมีผู้บริหารวธ. เครือข่ายวัฒนธรรม ร่วมงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ "สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
(เวลา ๐๙.๓๐ น.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธาน พร้อมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ถวายเครื่องสักการะ (พานธูปเทียนแพ) และสรงน้ำแด่ พระพรหมวชิรเวที เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ในการนี้ คณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมพิธีทำบุญเลี้ยงภัตตาหารพระสงฆ์ จากนั้น นายอิทธิพล คุณปลื้ม ประธานได้กล่าวว่า ปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ นี้ กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้จัดงานประเพณีสงกรานต์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด "สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” และได้รณรงค์ส่งเสริมให้จัดกิจกรรมที่คงไว้ซึ่งแบบแผนประเพณีอันดีงามและทรงคุณค่า มุ่งเน้นเผยแพร่อัตลักษณ์ความงามของสงกรานต์ไทย สู่มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ สามารถสร้างรายได้ สร้างความสุข ความสามัคคี และความอบอุ่นในครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เข้าใจและประทับใจในวัฒนธรรมประเพณีวิถีไทยมากขึ้น และเนื่องในโอกาสแห่งวันสิริมงคล ปีใหม่ไทย ในนามกระทรวงวัฒนธรรม ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ประทานพรให้ทุกท่านประสบความสุข ความเจริญ และมีสุขภาพแข็งแรงตลอดไป
โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ ได้กล่าวว่า ปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม บูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด "สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” และได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด และสำนักงานเขต ๕๐ เขต จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมตามแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี ด้วยการอนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมสร้างการรับรู้ในสาระอันดีงาม คงไว้ซึ่งแก่นแท้ของประเพณีสงกรานต์ในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาชาวต่างชาติ
ด้านนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า วธ.โดยสวธ. ร่วมกับวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร สำนักงานเขตปทุมวัน ศูนย์การค้าสยามพารากอน พร้อมหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ ให้คงไว้ซึ่งแก่นแท้ของประเพณีวิถีไทยดั้งเดิม เพื่อให้ประชาชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ต่อไป ทั้งยัง เป็นการสนับสนุนการเสนอ "สงกรานต์ในประเทศไทย" เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ต่อองค์การยูเนสโก ที่จะมีการพิจารณาในปลายปีนี้
ทั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมและคณะทูตานุทูต ได้เดินทางไปสรงน้ำและสักการะพระพุทธรูป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัน ได้แก่ สรงน้ำหลวงพ่อพระเสริม (องค์จำลอง) ณ ด้านหน้าพระอุโบสถ เข้าสักการะหลวงพ่อพระสายน์ ณ พระอุโบสถ สักการะพระบรมสารีริกธาตุ เข้าสักการะหลวงพ่อพระเสริมและหลวงพ่อพระแสน ณ พระวิหาร และได้ร่วมกันก่อเจดีย์ทรายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นได้เข้าร่วมพิธีรดน้ำขอพรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม คณะทูตานุทูตและผู้บริหารวธ. บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น
ภายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ผู้เข้าร่วมงานยังได้สนุกสนาน เพลิดเพลินกับการแสดงทางวัฒนธรรม ได้แก่ การแสดงรำกลองยาว การแสดงรำวงย้อนยุค การแสดงการละเล่นเด็กไทย การแสดงกระตั้วแทงเสือ การแสดงไม้สูงไม้ต่ำ (ขาโถกเถก) ได้ชมการสาธิตร้อยพวงมาลัยดอกไม้สด การทำน้ำอบไทย ชมและชิม การทำขนม-อาหารในเทศกาลสงกรานต์ เช่น ขนมครกชาววัง การทำข้าวแช่ การกวนกาละแม/ข้าวเหนียวแดง การทำขนมช่อม่วง ขนมช่อชมพู ทำผัดไทย การทำกระทงทอง การทำล่าเตียง การทำน้ำสมุนไพร และการทำขนมฝอยทอง เป็นต้น
(ในภาคบ่าย)
(เวลา ๑๔.๐๐ น.) ก่อนเริ่มพิธีเปิดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า กรุงเทพฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมคณะผู้บริหารวธ. เข้าร่วมพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป ณ พระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ฯ จากนั้น ต่อด้วยพิธีเปิดงาน โดยได้รับความเมตตาจาก พระพรหมวชิรมุนี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กล่าวให้โอวาทและอวยพรให้ประชาชนที่มาร่วมงาน เนื่องในโอกาสประเพณีสงกรานต์ ปีใหม่ของไทย อีกด้วย ซึ่ง นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วธ.จัดงาน "สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ณ วัดสุทัศนเทพวราราม โดยมุ่งเน้นเรื่องคุณค่าและสาระของวัฒนธรรม ประเพณีสงกรานต์ที่มีสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งใน Soft Power ด้านการอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาลประเพณีสู่ระดับโลกของรัฐบาล โดยอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วยภาครัฐบาล ภาคเอกชนและประชาชน และยังสร้างการตระหนักรู้ต่อประชาชน ได้ร่วมเผยแพร่คุณค่าสาระที่แท้จริง ได้เกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ประเพณียอดนิยมของชาวต่างชาติ และมีโอกาสได้รับการพิจารณาจากยูเนสโก (UNESCO) รองรับการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากท่านเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ในเรื่องสถานที่การจัดงานและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในงาน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี โดยในส่วนกิจกรรมที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้ง ๕ วัน ประกอบด้วย การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ๔ ภาค อาทิ การแสดงดนตรีไทยจากนักเรียนในโครงการดนตรีไทย ๑๐๐ % เพลงฉ่อย เพลงเรือ ฟ้อนมาลัย เซิ้งโปงลาง และโนรา การสาธิตทางวัฒนธรรม ร้านของดี ๕๐ เขต และการไหว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด นอกจากนี้ ยังจะมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ได้รับรางวัลจากกิจกรรมการประกวดก่อพระเจดีย์ทรายและการประกวดพานรดน้ำ รวม ๒๐ รางวัล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรางวัลขวัญใจอนุรักษ์วัฒนธรรม มอบโดยท่านเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม อีกด้วย
งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ที่จัดระหว่างวันที่ ๑๒-๑๖ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. นอกจากกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรมที่หาชมได้ยากแล้ว ยังมีกิจกรรมสาธิตทางวัฒนธรรม อาทิ การสาธิตเครื่องหอมไทยในเทศกาลสงกรานต์ การสาธิตข้าวแช่ชาววัง และมะยงชิดลอยแก้ว การสาธิตงานหัตถศิลป์ปีใหม่ไทย : พัดบุหงา / บุหงารำไป / มาลัยผ้าเช็ดหน้า / การพับใบเตยหอม การสาธิตกวนกาละแม การสาธิตการละเล่นสะบ้ามอญ/บ่อนสะบ้า การสาธิตการทำตุงไส้หมู (ภาคเหนือ) การสาธิตการทำมาลัยกรจากผ้าขาวม้า (ภาคกลาง) และการสาธิตการทำลูกปัดโนรา-สืบสานตำนานโนราเติม วิน วาด (ภาคใต้) ได้สร้างความสุขให้ประชาชนและสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
นอกจากงานประเพณีสงกรานต์ที่จัด ณ วัดทั้งสองแล้ว ยังมีกิจกรรมในภาพรวมของกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และหน่วยงานในสังกัด ร่วมกับภาคี จัดเพื่อให้ประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยว ได้ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๖ ภายใต้แนวคิด "สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” อาทิ
-งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ไทย พุทธศักราช ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๕ เมษายน ๒๕๖๖ ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย สรงน้ำพระพุทธรูป ออกร้านอาหารไทย สินค้าทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น การการแสดงพื้นบ้าน ๔ ภาค ประกอบด้วย ระบำตารีกีปัส ระบำตุมปัง ฟ้อนขันดอก ฟ้อนนกกิงกะหร่า เอิ้นขวัญ ภูไทสามเผ่า เอ้ดอกคูณ และเพลงพื้นบ้านภาคกลาง
-สนับสนุนสภาวัฒนธรรม ๕๐ เขต ในกรุงเทพมหานคร ร่วมจัดกิจกรรมสืบสานคุณค่าสาระประเพณีสงกรานต์ กับสำนักงานเขต ๕๐ เขต ของกทม. ในช่วงประเพณีสงกรานต์
-วธ.โดยกรมศิลปากร ร่วมกับสยามพารากอนจัดงาน "สงกรานต์ประเพณีไทย สายน้ำแห่งวัฒนธรรม" โดยอันเชิญพระพุทธรูป สำคัญ ๙ องค์ มาให้ประชาชนได้สักการะ รดน้ำขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ปี ๒๕๖๖ วันที่ ๑๒-๑๖ เมษายน ๒๕๖๖ ณ แฟชั่น แกลลอรี่ ชั้น ๑ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ประกอบด้วย ๑.พระพุทธรูปปางถวายเนตร ๒. พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ๓. พระพุทธรูปไสยาสน์ ๔. พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ๕. พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ (พระพุทธรูปบูชาแทนพระราหู) ๖. พระพุทธสิหิงค์จำลอง (ปางสมาธิ) ๗. พระพุทธรูปปางรำพึง ๘. พระพุทธรูปปางนาคปรก และ ๙.พระเกตุพระหายโศก ปางสมาธิเพชร (พระพุทธรูปบูชาแทนพระเกตุ) โดยมีการสาธิตน้ำอบน้ำปรุง การทำแป้งพวง และการร้อยมาลัยดอกไม้ด้วย
-งานเทศกาล "สงกรานต์วัดพระเชตุพน” ประจำปี ๒๕๖๖ พร้อมชมการสาธิตศิลปะแม่ไม้มวยไทย โดยแชมป์มวยไทย เยี่ยมชมกิจกรรมและการออกร้านภายในวัดอีกมากมาย
-ในส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายจังหวัด จัดงาน "สืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ใน ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ "สืบสานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองวิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ๑๒-๑๕ เม.ย. ๖๖ ณ วัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น "สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ๑๒-๑๖ เมษายน ๒๕๖๖ ณ เฮือนโบราณวิถีไทบ้านขอนแก่น หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี ประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน ๑๖-๑๗ เม.ย. ๖๖ ณ บริเวณชายหาดบางแสน และ วัดจุฑาทิศธรรม อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดสมุทรปราการ ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ระหว่าง ๒๑-๒๓ เม.ย. ๖๖ ณ ลานที่ว่าการอำเภอพระประแดง จังหวัดนครศรีธรรมราช งานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร(วิถีพุทธ-พราหมณ์) ๑๓-๑๔ เม.ย. ๖๖ และ จังหวัดกระบี่ สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล วันที่ ๑๐-๑๑ เมษายน ๒๕๖๖ ณ บริเวณศาลากลางจังหวัด อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
นอกจากนี้ สวธ. ยังได้จัดพิมพ์หนังสือประเพณีสงกรานต์ ๒๕๖๖ ในแบบ ๒ ภาษาไทยและอังกฤษ และวีดิทัศน์รณรงค์เพื่อเผยแพร่สร้างความรู้ ความเข้าในประเพณีสงกรานต์ให้คนไทยและชาวต่างชาติ โดยสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และข้อมูลทางวัฒนธรรมได้ทาง www.culture.go.th หรือ เฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและ line@วัฒนธรรม |