
ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (cultural tourism) ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ของแหล่งท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า นอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โบราณสถาน หรือสถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้ว ผู้คนในพื้นที่มีความสำคัญมีบทบาทต่อการสื่อสารวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน การจัดการองค์ความรู้ของชุมชนจึงมีความสำคัญ ในการจัดการระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมายาวนาน โดยระบบคุณค่านี้ ก็คือ ทุนมนุษย์ (human capital) องค์ประกอบสำคัญของชุมชน อาทิ สล่า ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้สูงอายุ ในชุมชน เป็นต้น
งานวิจัยเรื่องการพัฒนาสารานุกรมชุมชน จากการสกัดองค์ความรู้สล่าไทลื้อและปราชญ์ภูมิปัญญา เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชุมชนบ้านลวงเหนือ อําเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยวีรพล แก้วพันธ์อ่ำ และคณะผู้วิจัย นี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ในการศึกษาอัตลักษณ์ของภูมิปัญญาไทลื้อ เพื่อสกัดองค์ความรู้จากปราชญ์ภูมิปัญญา สล่า และนำองค์ความรู้ที่ได้มาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์สู่แนวทางการพัฒนาสารานุกรมภูมิปัญญาไทลื้อ ชุมชนบ้านลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ผลการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของชุมชน พบว่าชุมชนสล่าไทลื้อ ได้มีการปรับตัวและเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อม ต่อการเป็นชุมชนแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คือ แกนนำของชุมชนมีการพัฒนาตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ ทั้งการมุ่งศึกษาและอบรมด้านการตลาดเพื่อนำมาบูรณาการใช้กับการท่องเที่ยว เช่น การสร้างแบรนด์ (Branding) และการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค (Customer Behavior) นำมาสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวและจุดเด่นในแต่ละจุดของเส้นทางการท่องเที่ยว ด้วยการผ่านเรื่องราวและเรื่องเล่า (Story telling) ซึ่งก่อนหน้านี้ ชุมชนไม่ทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของชุมชน ยังมองไม่เห็นว่าศักยภาพเดิมที่ชุมชนมีนั้น สามารถนำมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสื่อสารความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในชุมชนได้มีการสร้างเพจ Facebook ของชุมชนขึ้น เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่กว้างไกลและสามารถตรวจสอบความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายคือ นักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสสื่อสารความต้องการและความประทับใจในประสบการณ์ที่ได้มาสัมผัสกับชุมชน
องค์ความรู้ทางภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องสำหรับพัฒนาการจัดทำสารานุกรมของชุมชน ประกอบด้วย ๑) ข้อมูลทั่วไปของชุมชน ๒) ภูมิปัญญาด้านอาหาร ๓) ภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดง ๔) ภูมิปัญญาด้านการทอผ้า ๕) ภูมิปัญญาด้านช่างไม้และการแกะสลักไม้ ๖) ภูมิปัญญาด้านการทำกระดาษสา ๗) ภูมิปัญญาด้านวรรณกรรมพื้นบ้าน ๘) สถานที่สำคัญของชุมชนไทลื้อ ๙) ความเชื่อและพิธีกรรมของไทลื้อ ๑๐) พิธีกรรมที่สำคัญของชาวไทลื้อ ๑๑) ครอบครัวและเครือญาติ ๑๒) การแต่งกายของไทลื้อ โดยองค์ความรู้ที่ผ่านการจัดระบบและเรียบเรียงดังกล่าวแล้ว จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้กับผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวได้เรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของชุมชนได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะเพื่อให้มรดกภูมิปัญญาดั้งเดิมรวมถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องของชุมชนได้รับการสืบสานและต่อยอด ๓ แนวทาง คือ ๑. ควรมีการส่งเสริมให้ชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมหาแนวทางในการรักษาองค์ความรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมไม่ให้แปรเปลี่ยนหรือสูญหายไปได้ จากการเป็นชุมชนเปิดเพื่อการท่องเที่ยว อาทิ เยาวชนรุ่นใหม่ สล่า ปราชญ์ ข้าราชการ หน่วยงานสำคัญของชุมชน เป็นต้น ๒. ควรมีการบูรณาการเนื้อหาทางวัฒนธรรม เข้ากับหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนในชุมชน เพื่อให้องค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ถ่ายทอดไปสู่เยาวชนรุ่นใหม่ และ ๓. หน่วยงานภาครัฐควรให้การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนา พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาของชุมชน รวมถึงพัฒนาสื่อที่ใช้ประชาสัมพันธ์ ให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวที่มีความหลายหลายทางเชื้อชาติและภาษา
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม วารสารวิจัยวัฒนธรรม , พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ปี่ที่ ๔ ฉบับที่ ๒ มกราคม - มิถุนายน ๒๕๖๕