กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน วัฒนธรรมการตีเหล็กชุมชน บ้านนาถ่อน

วันที่ 9 ก.ย. 2565
 

     อาชีพการตีเหล็กของชาวบ้านนาถ่อน จังหวัดนครพนม สืบทอดกันมานานไม่น้อยกว่า ๘๙ ปี เริ่มต้นขึ้นจาก พ.ศ.๒๔๖๖ สมัยขุนพินิจอักษร แสนเสร็จ เป็นกำนัน ตำบลนาถ่อน ได้ไปติดต่อบาทหลวงซาเวียร์ ชาวฝรั่งเศสสอนศาสนาเมืองเชียงขวาง แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเป็นผู้ฝึกสอนการตีเหล็กให้กับชาวบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำดาบ มีดพร้า และจอบเสียมสำหรับใช้ในการเกษตรกรรม แต่เดิมเป็นงานฝีมือที่มาจากแรงงานของคนล้วนๆ แต่ปัจจุบันเป็นการผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมเพื่อการพาณิชย์ ทำให้วัฒนธรรมประเพณี พิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับการตีเหล็ก เริ่มเลือนหาย ผู้นำชุมชนและชาวบ้านขาดความตระหนัก คนรุ่นใหม่ไม่สนใจไม่ทราบถึงประเพณีความเป็นมาของการประกอบอาชีพของบรรพบุรุษ
 
     การวิจัยการพัฒนาและอนุรักษ์วัฒนธรรมโดยใช้ การมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีศึกษา : วัฒนธรรมการตีเหล็กชุมชน บ้านนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาวัฒนธรรมการตีเหล็กของชุมชนบ้านนาถ่อน จังหวัดนครพนม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ๒) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมการตีเหล็กชุมชนบ้านนาถ่อนโดยใช้วิธีการมีส่วนร่วมกับการจัดการความรู้เป็นฐานการวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้มีส่วนร่วมการประกอบด้วย นักวิจัย ณัฐชนันท์ ปลายเนตร ศุภชัย ปลายเนตร ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ตัวแทนโรงเรียน และตัวแทนวัด ได้ร่วมเสนอแนวทางการส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรม
 
     ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนบ้านาถ่อน มีความเชื่อและศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน เช่น การบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน มีการถือปฏิบัติประเพณีการบวงสรวงศาลปู่ตาแสง นอกจากนั้นยังมีการปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่ โดยมีความเชื่อว่า หากได้มีการปฏิบัติจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว ซึ่ง ชุมชนบ้านนาถ่อน ได้มีการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมของชุมชน ผ่านการจัดกิจกรรมในแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมจำนวน ๕ แห่ง คือ สภาวัฒนธรรมตำบลนาถ่อน ศูนย์การศึกษาวัดศรีมงคล องค์การบริหารส่วนตำบลนาถ่อน โรงเรียนนาถ่อนพัฒนา และกลุ่มตีเหล็กมีดพร้าบ้านนาถ่อน และยังพบว่า แนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมอย่างมีส่วนร่วม ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การฝึกอบรมและการส่งเสริม สร้างความตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรม โดยมีผู้อาวุโสและผู้นำชุมชนร่วมประสานงานกับบุคลากรภาครัฐ ในการกำหนดขั้นตอนและการวางแผนการดำเนินการอนุรักษ์วัฒนธรรม
 
     และยังพบว่าแหล่งการเรียนรู้ ด้านวัฒนธรรมของชุมชนมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม งบประมาณ การจัดการพื้นที่และการประชาสัมพันธ์ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมีการส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชน และวิธีการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมอันจะส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่ยั่งยืน
 
     >>> รายละเอียดงานวิจัยฉบับเต็ม คลิก www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/090965b.pdf 
 
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม วารสารวิจัยวัฒนธรรม ปี่ที่ ๔ ฉบับที่ ๒ มกราคม - มิถุนายน ๒๕๖๕
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)