
จากการถอดบทเรียนสินค้าเชิงวัฒนธรรม พบว่า การผลิตสินค้าเชิงวัฒนธรรมมีจุดเริ่มต้นจากการผลิตด้วยใจรัก แล้วจึงค่อยพัฒนาเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อและผลิตเพื่อการค้าในที่สุด และพบว่าผู้ประกอบการยังไม่มีแนวคิดที่จะพัฒนาสินค้าเชิงวัฒนธรรมไปสู่ระดับโลก แต่เริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนการผลิตที่ไม่สำคัญและเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้านการประชาสัมพันธ์เชื่อว่าการบอกต่อแบบปากต่อปากถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่ก็มีการประชาสัมพันธ์ ผ่านเว็บไซต์ เฟสบุ๊ก ไลน์ อินสตาร์แกรม และทวีตเตอร์ เช่นเดียวกับการตลาดสมัยใหม่ที่ใช้วิธีการหลากหลาย อาทิ การมีหน้าร้าน การขายฝาก การรวมกลุ่มเพื่อขายสินค้า ออกบูธแสดงสินค้า และทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางการขายในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
พบว่าจุดแข็งของสินค้าเชิงวัฒนธรรม ประกอบด้วย คุณภาพของแบรนด์สินค้าซึ่งจัดอันดับอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยผู้บริโภคให้ความพึงพอใจมากที่สุดใน ๓ เรื่อง คือ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ความน่าเชื่อถือของสินค้าทางวัฒนธรรม และยังเป็นสินค้าที่มีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดหรือท้องถิ่น ส่วนสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความพึงพอใจน้อย คือ ด้านประโยชน์ใช้สอย ความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่น และความสะดวกในการซื้อ
ทั้งนี้ การส่งเสริมให้สินค้าเชิงวัฒนธรรมยกระดับสู่แบรนด์ระดับโลก สามารถดำเนินการได้โดยใช้ กลยุทธ์ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในกระบวนการต่างๆ ทั้งในเรื่องการผลิต การนำเทคโนโลยีมาใช้ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์และการตลาด และเน้นพัฒนาบุคลากรในเครือข่ายสินค้าเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นคนเก่งคนดีและมีความสร้างสรรค์ มีความมุ่งมั่นและผูกพันในวัฒนธรรมท้องถิ่น และต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ระดับโลก โดยหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและต่อยอดวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จะนำพาไปสู่การสร้างแบรนด์ระดับโลก ต่อไป