กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน การฟื้นฟูภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน จากความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์

วันที่ 20 พ.ย. 2563
 

     ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญหายจากการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ปัจจุบันมีความพยายามที่จะฟื้นฟูภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านโดยนักวิชาการเป็นผู้จุดประกาย แต่ยังไม่ส่งผลให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากกระแสการแพทย์สมัยใหม่มีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคนในชุมชน และมีผลโดยตรงต่อสถานภาพ บทบาทของหมอพื้นบ้านทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการดูแลสุขภาพที่ภาครัฐได้จัดตั้งขึ้น

 
     หลายชุมชนจึงพยายามที่จะสร้างระบบและกลไกที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนตนเองจากฐานความคิดของภูมิปัญญาที่หลากหลาย โดยเฉพาะชุมชนตำบลนาตาล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท ญ้อ และกะเลิง ต่างมีภูมิปัญญาการดูแลรักษาสุขภาพในแบบเฉพาะตน ซึ่งภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านแต่ละกลุ่มยังเป็นที่พึ่งพาทางสุขภาพในแบบเอื้อเฟื้อพึ่งพาซึ่งกันและกัน ต่างพากันพยายามจัดหาพื้นที่เพื่อให้บริการคนในชุมชนควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้ชุมชนตำบลนาตาลมีความโดดเด่นด้านภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน เกิดความร่วมมือกันวิจัยเพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านที่มีอยู่มาผนวกรวมกับระบบการดูแลสุขภาพของภาครัฐ
 
     จากการศึกษาวิจัย การฟื้นฟูภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านจากความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในตำบลนาตาล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร พบว่า มีหมอพื้นบ้านที่ยังพบเห็นอยู่จัดได้ ๕ ประเภท ได้แก่ หมอสมุนไพร หมอเป่า หมอเหยา หมอธรรม และหมอขวัญ ซึ่งแต่ละประเภทมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนี้
 
     หมอสมุนไพร จะใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญการใช้สมุนไพร ในการดูแล รักษา บรรเทาโรคภัยไข้เจ็บทั่วไป รักษาทั้งอาการภายนอกที่พบเห็น และรักษาโรคภายในร่างกาย
 
     หมอเป่า จะรักษาโรคด้วยการเป่าเพื่อรักษาอาการป่วย มีทั่งการเป่าด้วยมนต์คาถาอย่างเดียว การเป่าผสมกับการทาน้ำมัน เช่น ฝีปลวก ฝีหัวดำ งูสวัด ไฟลามทุ่ง เป็นต้น
 
     หมอเหยา คือหมอที่ใช้พิธีกรรมในการรักษา ประกอบด้วย เหยารักษาโรค และเหยาเลี้ยงผี
 
     หมอธรรม คือ หมอพื้นบ้านที่มีความรู้เรื่องมนต์คาถาแบะการวินิจฉัยโรคด้วยฌานภายใน จะแนะนำการรักษาโรคไม่ได้รักษาโรคโดยตรง
 
     ใสส่วน หมอขวัญ คือ หมอที่ทำพิธีเชิญขวัญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว เช่น การเกิด งานบวช แต่งงาน และในโอกาสพิเศษต่างๆ ทำเพื่อให้กำลังใจและเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและผู้อื่น กระบวนการฟื้นฟูภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านจากความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในตำบลนาตาล นี้เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ส่งผลให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนสุขภาวะอย่างเป็นรูปธรรมและมีผลทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะในด้านการดูแลสุขภาพร่างกาย
 
     อ่านเนื้อหาผลการศึกษาวิจัยฉบับเต็ม >>> http://www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/201163a.pdf
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)