กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
พญาคันคากเป็นใคร ????? เกี่ยวข้องอะไรกับประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอีสาน

วันที่ 28 เม.ย. 2563
 

     ตำนานพญาคันคาก (พญาคางคก) เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่ปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายในการรับรู้ของชาวอีสานและล้านนามีชื่อรู้จักกันโดยทั่วไปว่า ตำนานพญาคันคาก แต่บางถิ่นก็อาจเรียกชื่อว่า ตำนานพญาคางคาก ธัมม์พญาคางคาก หรือพญาคันคากชาดก ในท้องถิ่นล้านนามีชื่อว่า คันธฆาฎกะ และสุวัณณจักกวัตติราช เป็นต้น และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ แล้วพญาคันคากเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เกี่ยวข้องอย่างไรกับประเพณีบุญบั้งไฟนั้น มีนิทานปรัมปราของชาวอีสานที่เล่าขานกันต่อๆกันมาดังนี้

 
     นิทานปรัมปราที่ชาวอีสานเล่าต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย เล่าว่า ณ เมืองอินทะปัตถานคร มีพญาเอกราชเป็นผู้ครองเมือง ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้อยู่อย่างเป็นสุขและมีพระนางแก้วเทวีเป็นมเหสี ได้ประสูติพระโอรส(พระโพธิสัตว์เสวยชาติ) เกิดมาเป็นคางคก ซึ่งมีผิวพรรณเหลืองอร่ามดั่งทองคำและในวันที่พระกุมารประสูติ เกิดอัศจรรย์ขึ้นบนพื้นโลก คือ ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เปรี้ยงปร้าง ลมพายุพัดต้นไม้หักล้มระเนระนาด เสียงดังสนั่นหวั่นไหวราวกับว่าโลกจะถล่มทลาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญลงมาเกิด พระยาเอกราชได้จัดหาหญิงสาว ที่มีลักษณะดี เช่น มีถันเต่งตึงกลมงาม มาเป็นแม่เลี้ยงนางนมแก่พระกุมาร เมื่อพระกุมารเจริญวัยเติบใหญ่เป็นหนุ่ม ก็คิดอยากจะได้คู่ครอง และอยากได้ปราสาทเสาเดียวไว้เป็นที่ประทับ จึงเข้าเฝ้าและทูลขอให้ พระบิดาช่วย ฝ่ายบิดาเห็นว่าพระโอรสของตนมีรูปร่างผิดแผกแตกต่างไปจากคนทั่วไป คงไม่มีหญิงใดปรารถนาจะได้เป็นคู่ครอง จึงทรงบอกให้พระกุมารเลิกล้มความคิดเช่นนั้นเสีย โดยให้เหตุผลว่าพระกุมารมีรูปร่างอัปลักษณ์ ทำให้พระกุมารเสียพระทัยยิ่งนัก ต่อมาในกลางดึกสงัดของคืนวันหนึ่งพระกุมารจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าตนเคยได้สร้าง สมบุญบารมีมา ก็ขอให้สำเร็จดังความปรารถนาด้วยเถิด ด้วยแรงอธิษฐานทำให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นที่ประทับนั่งของพระอินทร์เกิดแข็งกระด้างขึ้น พระอินทร์จึงลงมาเนรมิตปราสาทเสาเดียวอันงดงามหาที่เปรียบไม่ได้ พร้อมด้วยข้าทาสบริวาร เครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งล้วนแล้วไปด้วยทิพย์ปานประหนึ่งเมืองสวรรค์ และยังได้เอานางแก้วจากอุดรกุรุทวีปมามอบให้เป็นคู่ครอง ก่อนจากได้เนรมิตพระกุมารให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม พญาเอกราชเห็นประจักษ์ในบุญบารมีของลูก จึงยกราชสมบัติบ้านเมืองให้ครอบครอง เมื่อพระกุมารได้ครองราชย์แล้ว เจ้าเมืองทั้งหลายในชมพูทวีปต่างก็มาขออยู่ภายใต้ ร่มบารมี แม้พวกพญาครุฑ พญานาค พญาหงส์ เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ เช่น ช้าง ม้า เสือ สิงห์ กระทิง แรด ลงไปถึงกบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ผึ้ง ต่อ แตน มด ปลวก ต่างก็พากันมาถวายตัวเป็นบริวารจนหมดสิ้น ทำความไม่พอใจให้พญาแถนเป็นยิ่งนัก พญาแถนจึงไม่ยอมให้พวกพญานาคลงเล่นน้ำ เป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกลงมายังโลกมนุษย์เป็นเวลาหลายปี ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเหี่ยวเฉา ตาย มนุษย์และเหล่าสัตว์ต่างพากันเดือดร้อน จึงไปทูลให้พญาคันคากทราบพญาคันคากจึงไปยังเมืองบาดาลถามพวกนาคดู เมื่อรู้เหตุที่ทำให้ฝนแล้งแล้ว พญาคันคากจึงยกทัพอันประกอบไปด้วยมนุษย์ และเหล่าสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกขึ้นไปทำสงครามกับพวกพญาแถน พญาคันคากกับพญาแถน ได้ต่อสู้กันด้วยอิทธิฤทธิ์ ต่าง ๆ เมื่อพญาแถน เห็นว่าจะเอาชนะพญาคันคากด้วยฤทธิ์เดชไม่ได้ จึงท้าให้ชนช้างกัน ในที่สุดพญาคันคากชนะพญาแถนโดยการใช้บ่วงบาศก์ที่เตรียมไว้ เข้าจับกุมคล้องคอพระยาแถนจนตกลงจากหลังช้างและขอยอมแพ้ต่อพญาคันคากในที่สุด
 
     ภายหลังจากพระยาแถนได้ยอมแพ้แก่พญาคันคากแล้วจึงได้ทำสัญญาต่อกันขึ้น ดังนี้ พญาแถนให้สัญญญาว่าจะทำใหฝนตกลงมาสู่พื้นดินและมหาสมุทรทุกปีมิให้ขาด ขอให้ชาวโลกได้ให้สัญญานส่งขึ้นไปบอก ด้วยการจุดบั้งไฟขอฝนและหากว่าพญาแถนได้รับรู้แล้วก็จะส่งฝนลงมาให้ โดยจะฟังจากเสียงร้องของกบ เขียด และอึ่งอ่างที่ดังขึ้นไปก็จะรู้ว่าฝนที่ส่งลงมายังโลกนั้นชาวโลกได้รับแล้ว ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากที่ได้สัญญากันแล้วพญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้ จากตำนานเรื่องเล่านิทานปรัมปราของชาวอีสานเรื่องนี้คือต้นกำเนิดของ "ประเพณีบุญบั้งไฟ”ของชาวอีสานที่ถือปฎิบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมักจะกำหนดวันงานตรงกับ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก หรือวันเพ็ญเดือนหกเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงเดือนเจ็ด เมื่อฝนเริ่มโปรยปรายลงมาแล้วทุกคนต่างก็เตรียมลงมือทำไร่ทำนากันอย่างชื่นมื่น
 
................................................
 
ขอบคุณข้อมูล: จาก หนังสือชุดความรู้ไทยขององค์การค้าของคุรุสภา บุญบั้งไฟ โดย สมัย สุทธิธรรมhttp://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/folk-literature/252-folk/87-2012-01-31-09-51-27 และhttps://sites.google.com/site/wrrnkrrmphunban/wrr-rn-krrm-phakh-xisan/tanan-phya-khan-khak (วรรณกรรมพื้นบ้าน อีสาน)
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)