กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
เรื่องเล่าสมัยพุทธกาล “ประเพณีบุญข้าวจี่”

วันที่ 28 ม.ค. 2563
 

     ข้าวจี่ คือข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว นำมาปั้นขนาดประมาณกำมือ บางครั้งจะมีการใส่ไส้น้ำอ้อย(น้ำตาลแดง) หรือทาเกลือให้ทั่วก่อน นำไปปิ้งไฟให้สุกด้วยวิธีวางบนถ่านไฟ(การจี่) จนสุกเหลือง ทาด้วยไข่จนทั่ว แล้วปิ้งไฟต่อให้สุกทั่ว มีกลิ่นหอม "บุญข้าวจี่” เป็นงานบุญประเพณีของชาวอีสาน ทำกันในเดือนสาม หรือเรียกว่า บุญเดือนสาม เมื่อถึงวันทำบุญชาว บ้านจะทำการจี่ข้าวกันตั้งแต่เช้ามืดจากบ้านของตน บางแห่งอาจนำข้าว และฟืนไปรวมกันที่วัด แล้วทำการจี่ข้าวร่วมกัน เป็นการร่วมกันทำบุญ เสริมสร้างความสามัคคีกัน เมื่อนำข้าวจี่มารวมกัน ครั้นถึงเวลาพระภิกษุ สามเณรจะมานั่งที่อาสนะ ประธานในพิธีนำญาติโยมอาราธนาศีล พระภิกษุให้ศีล ญาติโยมรับศีล แล้วกล่าวคำถวายข้าวจี่ จากนั้นจะนำข้าวจี่ไปใส่บาตรพระ ซึ่งตั้งบาตรเรียงแถวไว้ตามจำนวนพระ และถวายภัตตาหารพระ เมื่อพระฉันท์เสร็จ จะให้พรญาติโยมเป็นอันเสร็จพิธี
 
     มูลเหตุแห่งการเกิดประเพณีบุญข้าวจี่ มีเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาลว่า มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางปุณณทาสี เป็นคนยากจนต้องไปเป็นทาสีรับใช้ของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งเศรษฐีให้นางไปซ้อมข้าว นางซ้อมตลอดวันก็ไม่หมด ตกตอนเย็น นางก็จุดไฟซ้อมต่อไป ได้รับความเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก พอถึงตอนเช้า นางก็เอารำทำเป็นแป้งจี่ เผาไฟให้สุกแล้วใส่ไว้ในผ้าของตนเดินไปตักน้ำปรารถนาจะบริโภคด้วยตนเอง ครั้นถึงกลางทางได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระ เกิดความเลื่อมใส คิดว่าเราเป็นคนยากจนในชาตินี้ ก็เพราะมิได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อนและชาตินี้เราก็ยังไม่เคยทำบุญเลย เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วนางก็น้อมเอาข้าวแป้งจี่นั้นเข้าไปถวายแด่พระศาสดา พระองค์ทรงรับแล้ว และนางคิดอีกว่าพระศาสดาคงไม่เสวย และอาจเอาทิ้งให้สุนัขหรือกากิน เพราะอาหารที่นางถวายไม่ประณีตน่ารับประทาน เมื่อพระศาสดาทรงทราบวาระจิตของนางเช่นนั้น พระองค์จึงรับสั่งให้พระอานนท์ ปูลาดอาสนะแล้วทรงประทับนั่งฉัน ณ ที่นางถวายนั้น ครั้นเสวยเสร็จแล้วก็ตรัสอนุโมทนากถาโปรดนางจนสำเร็จโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ครั้นนางทำกาลกิริยาแล้วก็ได้ไปเกิดบนดาวดึงส์สวรรค์เสวยทิพย์สมบัติ อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภา มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นยศบริวาร ด้วยเหตุนี้ ชาวนาในภาคอีสาน เมื่อเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวและเอาข้าวขึ้นเล้า (ยุ้งฉาง) เสร็จแล้ว นิยมพากันทำบุญข้าวจี่ เพราะถือว่าการถวายข้าวจี่มีอานิสงฆ์มาก ด้วยความเชื่อแบบนี้ คนอีสานโบราณจึงได้ทำบุญประเพณีบุญข้าวจี่ สืบต่อกันมาไม่ได้ขาด ดังที่ปรากฏในผญาอีสานซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ยามเมื่อถึงเดือนสามได้พากันเอาบุญข้าวจี่ ตั้งหากธรรมเนียมนี้มีมาแท้ก่อนกาล ได้เฮ็ดกันทุกบ้านทุกถิ่นเอาบุญ อย่าได้พากันไลเสียฮีตบุญคองเค้า” หมายถึง เมื่อถึงเดือนสามให้พากันทำบุญข้าวจี่ ธรรมเนียมนี้มีมาตั้งแต่โบราณได้ปฏิบัติกันมาทุกบ้านทุกเรือน อย่าได้พากันลืม
 
     ประเพณีบุญข้าวจี่ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานของชาวอีสานจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะคำสอนและข้อปฏิบัติต่างๆที่บรรพบุรุษได้สืบต่อกันมา และช่วยสร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตที่คนในชุมชนที่ร่วมกันสืบทอดและสร้างสรรค์ขึ้นให้เหมาะสมในแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่แก่นแท้ของคำสอนยังคงอยู่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้คงอยู่อยู่กับสังคมไทยเราสืบไปนั่นเอง
 
....................................
 
ที่มา : https://www.m-culture.go.th/ และhttps://www.norkaew.net/
ภาพ : photo by Nipon R. www.plearntrip.com/khawci-nongbualampoo/
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)