กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วันสำคัญ
อัตลักษณ์มวยไทยมรดกล้ำค่า ที่ควรสืบทอด

วันที่ 13 มิ.ย. 2559
 
 
 
 
     "มวยไทย” มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าอยู่คู่ชาวไทยมาทุกยุคทุกสมัยเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เพื่อใช้สยบข้าศึกในการสงครามและป้องกันอาณาจักรมาตั้งแต่ก่อนยุคกรุงสุโขทัย มวยไทยเป็นภูมิปัญญาทางด้านการต่อสู้ได้รับการสืบทอดจากบรรพชนไทย มีการดัดแปลงและพลิกแพลงในการใช้อวัยวะทุกส่วน เช่น มือ , เท้า , เข่า, ศอก และศีรษะเพื่อเข้าต่อสู้ป้องกันส่วนที่อ่อนแอของร่างกาย เป็นการต่อสู้ที่ครบเครื่องมีพิษสงรอบด้าน ทำให้เกิดการถ่ายทอดและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมไปทั่วโลก มวยไทยเป็นศิลปะที่มีรูปแบบเฉพาะตัว เช่นเดียวกับศิลปะการต่อสู้ด้านอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับนักรบไทยและเป็นที่นิยมตั้งแต่ระดับสามัญชนไปจนถึงสถาบันกษัตริย์มาทุกสมัย

     ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ชุมชนไทยก่อนอาณาจักรสุโขทัย ได้มีการเรียน การสอน และการฝึกฝนมวยไทยอยู่แล้ว มีสำนักเรียนในวัด สำนักเรียนเฉพาะตัวของครูมวย และสำนักการศึกษาศิลปะศาสตร์การปกครอง และการต่อสู้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร ที่สามารถรับนักเรียนหรือผู้สนใจจากทุกชุมชน และทุกเมือง เข้าไปเรียนและฝึกฝน ตัวอย่างเช่น"สำนักสมอคอน”แห่งลพบุรีในสมัยสุโขทัย ได้มีการรณรงค์ความรักชาติรักแผ่นดิน โดยการส่งเสริมให้เยาวชน วัยหนุ่มเดินเข้าสู่เส้นทางของ "ชายชาตรี”ด้วยการฝึกฝน มวยไทย ด้วยความโดดเด่นของศิลปะมวยไทยคือกระบวนท่าที่สวยงามและทรงประสิทธิภาพ ทรงพลัง โค่นล้มผู้ต่อสู้อย่างรวดเร็ว อาจทำให้คู่ต่อสู้ให้ถึงตายหรือพิการได้

     หลักพื้นฐานในการฝึกทักษะแม่ไม้มวยไทยจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจหลักพื้นฐานก่อน เพราะเป็นทักษะเบื้องต้นของการเรียนแม่ไม้มวยไทยและกลมวย เพื่อนำไปสู่การมีทักษะในขั้นสูงต่อไป ซึ่งศิลปะการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก เป็นทักษะพื้นฐานของกีฬามวยไทยที่มีอยู่มากมายหลายแบบ ซึ่งครูมวยต่างๆ ได้คิดค้นขึ้นมาใช้ และได้นำมาเขียน หรือบันทึกไว้ เพื่อประโยชน์ ในการเรียนการสอนวิชามวยไทยในปัจจุบัน ผู้ที่จะศึกษาวิชามวยไทยเหล่านี้จึงต้องยึดหลักคุณธรรมอย่างเคร่งครัดในการที่จะไม่นำวิชามวยไทยไปทำร้ายใครหรือใช้ในทางที่ผิด

     ต่อมาภายหลัง มวยไทยจึงมีการพัฒนาสู่การแข่งขันของเกมกีฬา ทำให้ศิลปะการต่อสู่อย่างมวยไทยจากอดีตจนมาถึงปัจจุบันนั้นมีการพัฒนาขึ้นมากทั้งในด้านของการไหว้ครูมวย ท่ารำมวย กฏกติกาการแข่งขัน ด้วยกลิ่นไอของวัฒนธรรมศิลปะที่เข้มแข็งทำให้มวยไทยมีมนต์เสน่ห์น่าหลงไหลอย่างยิ่งสำหรับในประเทศไทยมีการจัดการแข่งขันกีฬาชกมวยเป็นประจำ เช่น เวทีมวยลุมพินีและเวทีราช

      ดำเนิน พร้อมทั้งมีการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ให้ชมกันทั่วประเทศอีกด้วย มีช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารทั้งในอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และวิทยุ ทำให้สะดวกต่อการรับข้อมูลข่าวสารเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ในส่วนของต่างประเทศมวยไทยสามารถดึงดูดความสนใจทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาฝึกฝนการชกมวยไทย จนกระทั่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวจัดทัวร์พิเศษเน้นเฉพาะรายการเข้าชมมวยไทย ทดลองชกมวยไทยขั้นพื้นฐาน รวมถึงทำให้เกิดธุรกิจของที่ระลึกมวยไทยขึ้นอีกมากมาย เช่น กางเกงมวย รูปปั้นหรือรูปหล่อเรซิ่นสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง

     แม้ในบางครั้ง "มวยไทย” อาจถูกมองในแง่ลบบ้างเนื่องจากมีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตามในสายตาคนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างชาติ ล้วนให้การยอมรับว่า "มวยไทย” คือ ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของไทยที่เป็นมรดกอันล้ำค่า มีอัตลักษณ์เป็นแบบฉบับของตนเองเช่น การไหว้ครูมวย เป็นการรวบรวมสมาธิและเป็นการยืดกล้ามเนื้อให้กับผู้ที่ขึ้นชก มีท่วงท่าลีลาที่ให้ความรู้สึกถึงความเข้มแข็ง เช่น ท่าพระรามแผงศร เป็นท่าที่มีความเข้มแข็ง น่าเกรงขาม ใช้ข่มขวัญคู่ต่อสู้ รวมไปถึงกระบวนท่าแม่ไม้มวยไทย เช่น ท่าเถรกวาดลาน จะเน้นการใช้อวัยวะส่วนขาป้องกันคู่ต่อสู่เป็นท่าที่มีความเข้มแข็งและสวยงามไม่แพ้การไหว้ครูมวยซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ควรแก่การอนุรักษ์และส่งเสริมในวงกว้าง

     ดังนั้นมวยไทยจึงมีความสำคัญในการสร้างความภาคภูมิใจ สร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิให้แก่คนไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นสื่อที่ทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจเอกลักษณ์วัฒนธรรม ประเพณีไทยมากขึ้น และยังสามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศชาติอย่างมหาศาล

     เนื่องในโอกาส วันมวยไทยที่จะมาถึง ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ นี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และผู้ที่ชื่นชอบศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย เข้าร่วมพิธีบวงสรวงสมเด็จพระเจ้าเสือ พิธีไหว้ครูมวยไทย เป็นกำลังใจให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันร่ายรำไหว้ครูมวยไทย และชื่นชมความงดงามของศิลปวัฒนธรรมการแสดงต่างๆ ได้ฟรี ณ ลานกลางแจ้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
 
 
 
บทความโดย นางสาวศริญญา เมตตารักษ์ (นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร) กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
อ้างอิง - หนังสือวันมวยไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
 
 
 
 
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)