กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วันสำคัญ
๒๔ กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ

วันที่ 24 ก.พ. 2567
 
     ตามกฎกระทรวงแห่งพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ระบุว่า "ศิลปินแห่งชาติ” หมายถึง ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าและแสดงศักดิ์ศรีของชาติ ซึ่งกำหนดให้ศิลปินแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะในสาขาต่าง ๆ 

     วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง เป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่งของปวงชนชาวไทย เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งเป็นยุคที่งานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ด้วยทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลากหลายสาขา โดยเฉพาะงานด้านวรรณกรรม ในยุคสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นปราชญ์ด้านวรรณศิลป์ เห็นได้จากการทรงงานพระราชนิพนธ์วรรณกรรม ไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น เรื่อง อิเหนา เป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอก ไว้ถึง ๕ เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวรรณกรรม จึงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (ในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครับ ๒๐๐ พรรษา) จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) 

     ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทรงทำนุบำรุงงานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้เจริญรุ่งเรือง และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สร้างขวัญและกำลังใจให้ศิลปินผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ ให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันศิลปินแห่งชาติ” โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ดำเนินการคัดเลือกศิลปินสาขาต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้าง และผ่านการคัดเลือก ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ประกอบด้วย ๓ ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ส่วนที่เป็น วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย ส่วนประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณีและร่วมสมัย มัณฑศิลป์ การออกแบบผังเมือง การออกแบบอุตสาหกรรม และประณีตศิลป์ เป็นต้น สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ และสาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดง ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้ ๑.ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย ๒. ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล และ ๓.ภาพยนตร์และละคร 

     กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ริเริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ และมีประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ จนปัจจุบัน มีศิลปินสาขาต่าง ๆ ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ แล้วจำนวนรวม ๓๕๕ คน เสียชีวิตไปแล้ว ๑๗๗ คน ถอดถอน ๑ คน และยังมีชีวิตอยู่ ๑๗๗ คน ซึ่งศิลปินแห่งชาติทุกท่านล้วนเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่า เป็นปราชญ์ทางด้านศิลปะที่มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ที่อุทิศตนสร้างสรรค์และถ่ายทอดผลงานศิลปะอันล้ำค่าไว้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ ถือเป้นหน้าที่ของรัฐและประชาชนชาวไทยทุกคน ที่จะต้องช่วยกันธำรงรักษา ส่งเสริมสนับสนุน ให้กำลังแก่ศิลปินในการสร้างสรรค์งานศิลปะและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมจากศิลปินรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นสมบัติชาติไทยเราสืบไป 

     โอกาสนี้ สวธ. ขอเชิญนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป เข้าชมนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๕ ณ อาคารอเนกประสงค์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ - ๙ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)