
พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือ สุนทรภู่ มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้รับสมญานามว่า "กวีสี่แผ่นดิน” ผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของสุนทรภู่ คือ เรื่อง "พระอภัยมณี” ซึ่งมีเนื้อหาที่แปลกใหม่ โดยนำเรื่องราวหลากหลายมาผสมผสานกันเพื่อสร้างความสนุกตื่นเต้น ทั้งนิทานไทย การเมืองการปกครองของต่างประเทศ วัฒนธรรมของต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งของชาวตะวันตก และเรื่องราวที่มาจากจินตนาการของสุนทรภู่เอง รวมถึงการสร้างตัวละครที่มีเอกลักษณ์และมีความแปลกใหม่ ทำให้นิทานกลอนเรื่องพระอภัยมณีมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตัวละครเด็กที่เก่งกล้า เช่น สุดสาคร ซึ่งเป็นลูกของพระอภัยมณีกับนางเงือก สินสมุทร ซึ่งเป็นลูกของพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร และม้านิลมังกร ซึ่งเป็นลูกของม้ากับมังกร
บทกลอนนิทานเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่นี้ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน และเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมาย และเมื่อปี พ.ศ. 2529 หรือในวาระที่ครบรอบ 200 ปีเกิด สุนทรภู่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม
และในวันนี้แอดมินจะพาไปรู้จักกับประวัติและผลงานของท่านกันคะ
สุนทรภู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ในปฐมวัยสุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระราชวังหลัง และได้อาศัยอยู่กับมารดา สุนทรภู่ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ตั้งแต่เยาว์วัย มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว ๒๐ ปี
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเสพสุรา และเรื่องอื่น ๆ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร ต่อมาสุนทรภู่ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่าง ๆ ภายหลังจึงลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๗๐ ปี สำหรับผลงานของสุนทรภู่ หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่มีอยู่มาก เท่าที่ปรากฏเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้คือ ประเภทนิราศ ได้แก่ นิราศเมืองแกลง, นิราศพระบาท, นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งเป็นโคลง), นิราศวัดเจ้าฟ้า, นิราศอิเหนา, นิราศพระประธม, นิราศเมืองเพชร ประเภทนิทาน ได้แก่ เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์,เรื่องสิงหไกรภพ ประเภทสุภาษิต ได้แก่สวัสดิรักษา, สุภาษิตสอนหญิง ประเภทบทละคร ได้แก่ เรื่องอภัยณุรา ประเภทบทเสภา : เรื่องขุนช้างขุนแผน, เรื่องพระราชพงศาวดาร และประเภทบทเห่กล่อม ได้แก่ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร
วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายน จึงมีการกำหนดให้วันนี้ของทุกปีเป็น "วันสุนทรภู่” เพื่อระลึกถึงผลงานและความสามารถของสุนทรภู่ รวมถึงความสำคัญของวรรณกรรมของไทย
สำหรับในปีนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ สภาวัฒนธรรมเขตปทุมวัน กำหนดจัดกิจกรรมเผยแพร่ผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ สร้างสรรค์ในรูปแบบละครเพลงด้วยการผ่านมุมมองใหม่จากคนรุ่นใหม่ เรื่อง "หัวใจพระอภัยมณี” เรื่องราวจากสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน ซึ่งมีกำหนดจัดแสดงระหว่าง 19-20 กรกฎาคม ศกนี้ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่ Facebook Fanpage กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ www.culture.go.th และ line@วัฒนธรรม
..........................................................
ขอบขอบคุณที่มา: หนังสือวันสำคัญของไทย โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม