
"งานเขียนทุกเรื่องต้องมีข้อมูล แต่ห้ามปลื้มกับข้อมูลจนเผลอตัวใส่เข้าไปทั้งหมดจนกลายเป็นสารคดี ทำให้รูปร่างนวนิยายบิดเบี้ยว เวลาที่เขียนเรื่องเบื้องลึกเกี่ยวกับจิตใจมนุษย์ต้องอ่านหนังสือจิตวิทยาประกอบ จะทราบว่าทำไมจึงมีพฤติกรรมแบบนี้” กฤษณา อโศกสิน (๑๘ ธ.ค. ๖๒ ในโอกาสรับรางวัล นักเขียนหญิงอมตะ คนแรกของไทย)
นี้คือ แนวทางส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม ที่ทำให้ สุกัญญา ชลศึกษ์ หรือในนามปากกา "กฤษณา อโศกสิน” สร้างงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่า ตราตรึงอยู่ในใจของนักอ่าน นักเขียน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบงานเขียนประเภทนวนิยาย มีผลงานคุณภาพกว่า ๒๐๐ เรื่อง ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในแวดวงวรรณกรรม จวบจนวันนี้ ท่านมีอายุครบ ๙๑ ปี เต็มแล้ว แต่ยังคงมีไฟในการสร้างงานเขียนอย่างต่อเนื่อง และเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิคการเขียนงานวรรณกรรมอย่างมีคุณภาพ ให้นักเรียน นักศึกษา นักเขียนรุ่นใหม่
สุกัญญา ชลศึกษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๗๔ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร วงการวรรณกรรมรู้จักกันในนามปากกา กฤษณา อโศกสิน และ กัญญ์ชลา ท่านเป็นศิษย์เก่า โรงเรียนราชินี เริ่มต้นชีวิตนักนักเขียนในวัยเพียง ๑๕ ปีมีมีผลงานเขียนชิ้นแรกเป็นเรื่องสั้น ชื่อ ของขวัญปีใหม่ ลงในหนังสือไทยใหม่วันจันทร์ ใช้นามปากกาว่า กัญญ์ชลา หลังจากสำเร็จการศึกษา ได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เสมียนใน กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาได้ศึกษาต่อในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างนั้น ได้เขียนเรื่องสั้น มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ หลายเรื่อง และยังทยอยลงตีพิมพ์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ รวมแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง ในขณะที่ผลงานด้านนวนิยายเริ่มมีออกมาเป็นระยะ อาทิ หยาดน้ำค้าง , ดวงตาสวรรค์ , ดอกหญ้า , ลมบูรพา ฯลฯ
นามปากกา "กฤษณา อโศกสิน” นั้น เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ด้วยผลงานนวนิยาย ชื่อ วิหคที่หลงทาง ได้รับการตีพิมพ์ลงใน สตรีสาร ซึ่งได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี นามปากกานี้ มีที่มาจาก ไม้หอม "กฤษณา” และ ทรัพย์ที่ปราศจากทุกข์ "อโศกสิน" ในนามปากกานี้ ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานเขียนออกมาอย่างหลายหลาก อาทิเช่น น้ำผึ้งขม , ระฆังวงเดือน , ชลธีพิศวาส และอีกหลายร้อยเรื่อง รวมทั้งนวนิยายชุด "ปูนปิดทอง” ที่ทำให้ท่านได้รางวัลนักเขียนรางวัลซีไรท์ เป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องชื่นชมว่า เป็นงานเขียนที่กะเทาะเปลือกสังคมได้อย่างสะใจและถึงแก่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ลานลูกไม้ , ลมที่เปลี่ยนทาง , เสื้อสีฝุ่น , รอบรวงข้าว , บุษบกใบไม้ , เรือมนุษย์ , ฝนหลงฤดู และ ไฟทะเล เป็นต้น
ตลอดระยะเวลาในเส้นทางวรรณกรรม สุกัญญา ชลศึกษ์ มีผลงานที่เขียนที่ทรงคุณค่าจำนวนมาก ทั้งเรื่องสั้น มีมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง และนวนิยาย มากกว่า ๑๔๐ เรื่อง อาทิ เพลิงบุญ หนามกุหลาบ วิมานไฟ ดวงตาสวรรค์ ฝันกลางฤดูฝน เรือมนุษย์ ตะวันตกดิน ไฟในทรวง น้ำผึ้งขม บันไดเมฆ สวรรค์เบี่ยง น้ำเซาะทราย ป่ากามเทพ ความรักแสนกล ไม้ผลัดใบ ประตูที่ปิดตาย ปีกทอง ไม้ป่า ฝ้ายแกมแพร เมียหลวง กระเช้าสีดา เข็มซ่อนปลาย ปูนปิดทอง เนื้อนาง บ้านขนนก บุษบกใบไม้ ลายหงส์ เลื่อมสลับลาย เวิ้งระกำ หลังคาใบบัว เสื้อสีฝุ่น เสียงแห่งมัชฌิมยาม ชาวกรง แมลและมาลี ข้ามสีทันดร จำหลักไว้ในแผ่นดิน ล่องทะเลดาว ฯลฯ รวมเรื่องสั้น เช่น ระหว่างบ้านกับถนน งานเขียนสารคดี เช่น เสียงหัวเราะและน้ำตาในศิลานคร ปลายสายฝนที่ทาคายามา ฯลฯ ทั้งยังมีผลงานของท่าน หลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ บางเรื่องถูกนำไปสร้างหลายครั้ง เช่น เรือมนุษย์ , ดวงตาสวรรค์ , น้ำเซาะทราย , สวรรค์เบี่ยง , เมียหลวง , วิมานไฟ , ป่ากามเทพ และ ฝันกลางฤดูฝน ฯลฯ
นับได้ว่าท่านเป็นสตรี นักสร้างสรรค์วรรณกรรมที่ประสพความสำเร็จสูงสุดในด้านนวนิยาย วัดได้จากยอดขายและรางวัลมากมายที่ได้รับ จากการประพันธ์งานวรรณกรรมด้วยความประณีต แสดงกลวิธีในการผูกปมเรื่อง และการนำเสนอเรื่อง ตัวละคร ฉาก ชื่อเรื่องอันเป็นสัญลักษณ์ ชื่อตัวละครที่มีความหมาย การใช้ภาษาอันงดงามสละสลวย ประกอบกับแนวความคิดที่อุดมด้วยวรรณศิลป์และสุนทรียภาพ ตามทฤษฎีแห่งการสร้างสรรค์วรรณกรรม อีกทั้งยังเป็นที่ประจักษ์ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีอุดมคติและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะนักประพันธ์ โดยการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในเรื่องผลกรรมดีกรรมชั่วของมนุษย์ มาสอดแทรก เป็นส่วนประกอบในการสรรค์สร้างนวนิยาย ทำให้ผลงานของท่านได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งจากผู้อ่านและในแวดวงวรรณกรรม ดังรางวัลทางด้านวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่อง ทั้งระดับชาติและนานาชาติ หลายครั้ง โดยได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พุทธศักราช ๒๕๓๑ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็น วุฒิสมาชิก เมื่อปี ๒๕๓๙ ได้รับปริญญา ศิลปะศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้น