"นายปง อัศวินิกุล”หัวเรือใหญ่แห่งห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ผู้ก่อตั้งและพัฒนาห้องบันทึกเสียงรามอินทราจนได้การยอมรับว่าเป็นห้องบันทึกเสียงคุณภาพของวงการภาพยนตร์ไทย และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลในฐานะคนทำเสียงมือหนึ่งของไทย
นายปง อัศวินิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับระบบเสียง–สร้างสรรค์ และบันทึกเสียงภาพยนตร์) พุทธศักราช ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นเกียรติยศล่าสุดท่ามกลางรางวัลและคุณูปการมากมายจากงานทำเสียงให้แก่ภาพยนตร์มาทั้งชีวิต เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ที่กรุงเทพมหานคร เริ่มศึกษาเรียนรู้งานสร้างภาพยนตร์ นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ จากนายรัตน์ เปสตันยี ผู้ก่อตั้งหนุมานภาพยนตร์ซึ่งเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาการผลิตภาพยนตร์คนแรก โดยศึกษาจากประสบการณ์ตรงเป็นผู้ช่วยกล้อง ผู้บันทึกเสียงและได้บันทึกเสียงภายนตร์หลายเรื่อง ซึ่งล้วนเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลทำให้ได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด จึงเป็นแรงผลักดันที่มุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานเบื้องหลังภาพยนตร์ โดยทำหน้าที่เป็นผู้กำกับระบบเสียงภาพยนตร์รวมถึงการบันทึกเสียง การพากย์เสียง การผสมเสียง ทั้งเสียงพูด เสียงดนตรี และเสียงประกอบภาพยนตร์และพัฒนาทักษะสร้างสรรค์ผลงานศิลป์แขนงนี้ให้ทัดเทียมต่างประเทศ โดยสร้างห้องบันทึกเสียงที่สามารถสร้างสรรค์ทำเสียงเอฟเฟคและผสมเสียงได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ ใช้ชื่อว่า "ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา” หรือ "ห้องปง” เพื่อสร้างสรรค์งานเสียงให้กับภาพยนตร์ไทยมา นับไม่ถ้วน
"ภาพยนตร์” ถือเป็นศาสตร์และศิลป์ การตัดต่อภาพยนตร์และการผสมเสียง ถือเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก กว่า ๖๐ปีที่ผ่านมาชื่อนายปง อัศวินิกุล และห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ปรากฏอยู่ในไตเติ้ลของภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง ในฐานะผู้บันทึกเสียงภาพยนตร์รวมถึงการผสมเสียง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นายปง เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านการทำเสียงให้กับภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สร้างชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมุ่งพัฒนาศาสตร์การบันทึกเสียงคุณภาพที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับลิขสิทธิ์จากบริษัท DOLBY LABORATORIES ประเทศอังกฤษ ให้เป็นห้องบันทึกเสียงที่สามารถผสมเสียงภาพยนตร์ในระบบ DOLBY STEREO SR และใช้ชื่อ DOLBY ได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกผสมเสียงด้วยระบบนี้ คือ ภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์เสียงภาษาไทย เรื่อง "SPEED” และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากระบบ DOLBY จนถึงระบบ DOLBY Atmos ในปัจจุบัน ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายของผู้สร้างภาพยนตร์เกือบทุกประเทศในเอเชีย และใน Hollywood ไม่ว่าจะเป็น Warner Bros. Pictures, 20th Century Fox, Walt Disney Pictures, Columbia Pictures, DreamWorks Studios และUniversalPictures ให้เป็นสตูดิโอที่ทำการบันทึกเสียงพากย์และผสมเสียงพากย์ภาษาไทย
ด้วยผลงานการบันทึกเสียงคุณภาพในปี พ.ศ.๒๕๔๒ มูลนิธิหนังไทยมอบรางวัลอนุสรมงคลการ เพื่อเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลในวงการภาพยนตร์ไทย รวมถึงได้รับรางวัลอื่น ๆ ในสาขาบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องในห้วงเวลากว่า ๖ ทศวรรษ อาทิ รางวัลสำเภาทอง ในฐานะผู้บันทึกเสียงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง "ชั่วฟ้าดินสลาย” ของบริษัทหนุมานภาพยนตร์ รางวัลตุ๊กตาทอง สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง "รักริษยา” ของกรรณสูตรภาพยนตร์ รางวัลตุ๊กตาทอง สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง "โรงแรมนรก” กำกับโดยนายรัตน์ เปสตันยี ของหนุมานภาพยนตร์ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง "น้ำตาลไม่หวาน” กำกับโดยนายรัตน์ เปสตันยี รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม และรางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ "เรื่องระย้า” ในปีเดียวกัน และรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ จากสมาคมผู้อำนวนการสร้างภาพยนตร์ไทย สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม เป็นต้น
นอกจากงานด้านการบันทึกเสียงภาพยนตร์แล้วนายปง อัศวินิกุล และทายาทยังสละเวลาเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำองค์รวมของศาสตร์และศิลป์ ในการกำกับระบบเสียง ควบคุมการบันทึกเสียง และการผสมเสียงประกอบภาพยนตร์ รวมถึงการถ่ายทอดศาสตร์แขนงนี้ให้แก่คนรุ่นใหม่ และสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านภาพยนตร์ เพื่อสานต่อและพัฒนาภาพยนตร์ไทย โดยมุ่งมั่นสร้างภาพยนตร์เพื่อสร้างความสุขให้กับคนไทยสมดั่งเจตนารมณ์ และปัจจุบันนายปงได้เกษียณตัวเองออกมาเป็นที่ปรึกษาให้ครอบครัว และเนื่องในโอกาสวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เป็นวันครบรอบวันเกิด ๙๒ ปี ของนายปง อัศวินิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับระบบเสียง–สร้างสรรค์ และบันทึกเสียงภาพยนตร์) พุทธศักราช ๒๕๖๓ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติผู้ได้บุกเบิกและวางรากฐานในการบันทึกเสียงภาพยนตร์ของไทยจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และห้องบันทึกเสียงรามอินทราที่เป็นมรดกชิ้นสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทยที่ยังคงพัฒนาระบบเสียงแบบครบวงจรให้กับทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างชาติสืบต่อไป
....................................................................