"คลังวิชา” ด้านบทเพลงไทย คือคำนิยามที่ลูกศิษย์ในวงการดนตรีต่างยกย่องให้ ครูจิรัส อาจณรงค์ ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๕ เนื่องจากเป็นครูดนตรีไทยที่เปรียบเสมือนคลังความรู้ให้กับนักดนตรีไทย และยังเป็นกรรมการราชบัณฑิตสาขาดุริยางคศิลป์ไทย รวมถึงเป็นครูใหญ่ประจำกรมศิลปากรด้วย ดังนั้นกรมศิลปากรจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็น ครูดนตรีไทย เพราะท่านสำเร็จการศึกษาระดับนาฏศิลป์ชั้นสูงที่โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และเข้ารับราชการตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ เป็นต้นมา
ตลอดระยะเวลาของการรับราชการได้ทำหน้าที่ครูและควบคุมวงปี่พาทย์ นับว่าเป็นผู้ที่มีความรอบรู้เชี่ยวชาญและแม่นยำในทางขับร้องและทางบรรเลงทุกประเภท ทั้งเพลงหน้าพาทย์ และเพลงในพระราชพิธีและเพลงประกอบการแสดงโขน ละคร สามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยได้ทุกเครื่องมือและที่ชำนาญเป็นพิเศษ คือ ระนาดเอก และฆ้องวงใหญ่ โดยได้ทำหน้าที่ครั้งสำคัญในปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ คือ การเป็นผู้ควบคุมวง ปี่พาทย์ และเป็นผู้บรรเลงระนาดเอกในพิธีไหว้ครูและครอบครูโขน ละคร และพิธีพระราชทานต่อท่ารำเพลงองค์พระพิราพ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา นอกจากนี้ ยังได้แต่งเพลงประกอบการแสดงนาฏศิลป์ไทย เช่น ระบำศรีอยุธยา ระบำไดโนซอร์ เป็นต้น
ครูจิรัส เคยกล่าวถึงดนตรีไทยไว้ว่า "การเรียนดนตรีไทย เหมือนเครื่องรับเครื่องส่ง ถ้าเครื่องส่งดีเครื่องรับดีก็ประสบความสำเร็จ พรสวรรค์มีส่วนช่วยมากที่สุด และเวลาบรรเลงดนตรีต้องอาศัยความสามัคคี สมาธิเล่นเป็นวง ใครจะทำอะไรโดดเด่นก็ไม่ได้”
เนื่องในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นวันคล้ายวันเกิดของครูจิรัส อาจณรงค์ อายุครบ ๙๑ ปี ขอร่วมเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติ ผู้มีคุณูปการด้านศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาให้แก่ศิลปินและครูดนตรีไทย รวมถึงทุ่มเทในการถ่ายทอดและสืบสานงานดนตรีไทยระดับสูงให้แก่เยาวชนรุ่นหลังของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด