
วันนี้ อาจารย์วิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พุทธศักราช ๒๕๖๐ ท่านมีอายุครบ ๗๙ ปี เต็มแล้ว การที่จะประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องของในวงการดนตรีของประเทศ นี้ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและเรียนรู้ หนทางการเป็นศิลปินนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องใช้เวลาฝึกฝน หมั่นเพิ่มพูนความรู้ สั่งสมประสบการณ์งานดนตรี อย่างต่อเนื่อง และที่อาจารย์วิรัช ทำมาตลอด คือ ยึดมั่นในแนวทางการดำเนินชีวิตของตนเอง ด้วยการ "ดำรงตนเป็นคนดี รู้หน้าที่ มีวินัย” นั่นคือ นอกจากจะมีฝีมือที่เก่งกล้าในวิชาชีพ แล้ว ที่สำคัญต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติยึดมั่นในคุณงามความดี รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ของตน และที่ขาดไม่ได้ คือ มีวินัยในการทำงานรวมถึงการใช้ชีวิต
อาจารย์วิรัช เป็นชาวอ่างทอง โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีใจรักและชื่นชอบเสียงเพลง เสียงดนตรี ตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านเรียนรู้และศึกษาด้านดนตรีด้วยตัวเอง โดยเริ่มฟังเพลงลูกทุ่งจากวิทยุ เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้หัดเล่นเครื่องดนตรีชิ้นแรกคือ หีบเพลงเป่า (Harmonica) ด้วยใจรักในเสียงเพลงและชอบร้องเพลง จึงได้เดินทางมาศึกษาต่อมัธยมตอนปลาย ที่โรงเรียนผดุงศิษย์พิทยา และศึกษาทางดนตรีที่กรุงเทพมหานคร เป็นช่วงเวลาที่ดนตรีสากลของโลกตะวันตกกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย ท่านได้ซึมซับดนตรีแนวต่าง ๆ และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์โดยการฟังดนตรีอย่างต่อเนื่อง ต่อมาได้เรียนเปียโนจากโรงเรียนสยามกลการ เครื่องดนตรีอิเล็กโทน ทรอมโบน จนถึงการเรียบเรียงเสียงประสาน อาจารย์วิรัช ท่านมีความจำที่เป็นเลิศ กระตือรือร้นและมีความขยันอดทน ทำให้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังไม่หยุดนิ่งที่จะเพิ่มพูนความรู้อย่างสม่ำเสมอ ในเส้นทางดนตรีสากล ทำให้มีความเชี่ยวชาญและควบคุมเครื่องดนตรีได้หลากหลาย
อาจารย์วิรัช เริ่มอาชีพนักดนตรีกับวงดนตรีทักษิณสังข์นาค ได้ออกแสดงฝีมือบ่อยครั้งเป็นการสั่งสมประสบการณ์และมีโอกาสรู้จักกับวงดนตรีต่าง ๆ ทำให้ได้ร่วมเล่นกับวงดนตรีที่มีชื่อเสียง หนึ่งในวงดนตรีแนวสตริงคอมโบยุคบุกเบิกของไทย เช่น วง Silver Sand วง BEC Orchestra ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ ในตำแหน่ง ทรอมโบน และได้เป็นผู้คุมวง ม.ศ. ที่สวนอัมพร วงยามาฮ่าซาวด์ เป็นต้น ต่อมาได้จัดตั้งวงดนตรีขึ้นและเป็นผู้อำนวยเพลงในนาม KPN อาจารย์วิรัช ยังมีความสามารถด้านการประพันธ์เพลงเป็นอย่างมาก ได้แต่งเพลงเพื่อใช้ประกอบละครทางทีวีสีช่อง ๓ หลายเรื่อง โดยละครเรื่องแรก คือเรื่อง "จิตไม่ว่าง” นอกจากเพลงประกอบละครแล้วยังได้แต่งเพลงให้กับนักร้องในยุคนั้นอีกหลายเพลง เช่น หากมีเธอ ครั้งหนึ่ง (ของหัวใจ) รวมทั้งแต่งเพลงให้กับสถาบันต่าง ๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนติบัณฑิตยสภา และได้แต่งเพลงสำหรับการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี ๒๕๔๖ คือ เพลงเรารวมกัน (Partnership) และอีกมากมาย
ผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจมากที่สุดคือ การได้ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี อาจารย์วิรัช ได้แต่งเพลงถวาย อาทิ เพลงใกล้ดวงใจแต่ไกลสุดฟ้า เพลงสายสัมพันธ์ สองแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังปฏิบัติหน้าที่ฐานะผู้อำนวยเพลงวงดนตรีเฉลิมราชย์ เป็นกรรมการผู้ก่อตั้งและประธาน กรรมการบริหารบริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จํากัด เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ทางลิขสิทธิ์ รวมทั้งสนับสนุนให้นักแต่งเพลงสามารถดูแลและบริหารสิทธิในผลงานที่ตนได้สร้างสรรค์ไว้
จากความสามารถและสร้างคุณประโยชน์ทางด้านดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ได้รับรางวัลยกย่อง เช่น ได้รับรางวัลนักดนตรีดีเด่นพระราชทาน ในการประกวดวงดนตรีสตริงคอมโบ้ ปี ๒๕๑๒ จัดโดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลแผ่นเสียง ทองคำพระราชทานในการบรรเลงเพลงภาพยนตร์เพชรตัดเพชร ได้รางวัลเมขลา ๒ ครั้ง จากการแต่งเพลงนำละคร เรื่อง จิตไม่ว่างและแต่ปางก่อน เป็นต้น
ปัจจุบัน อาจารย์วิรัช ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้อำนวยเพลง ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน เป็นอาจารย์สอนดนตรี เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในด้านการขับร้อง การเล่นดนตรี และการแสดง เป็นผู้ริเริ่มการอนุรักษ์วงการเพลงและดนตรีไทยสากล ให้คงอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป