กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
อาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย

วันที่ 13 พ.ย. 2565
 

     อาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) พุทธศักราช ๒๕๕๑ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ตำบลบางมด อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรชายของนายเฉย และนางล้วน ปิ่นแก้ว ภรรยาชื่อ นางสุปานี ปิ่นแก้ว มีบุตรหญิง ๑ คน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศึกษาศาสตร์บัณฑิต (ศษ.บ.) คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) เริ่มรับราชการใจตำแหน่งศิลปินจัตวา กองการสังคีต กรมศิลปากร และเจริญเติบโตในอาชีพราชการตามลำดับจนถึงเกษียณอายุราชการ ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์ ระดับ ๙ ปัจจุบันท่านถึงแก่กรรมแล้วเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กรุงเทพฯ สิริรวมอายุ ๗๙ ปี
 
      อาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว เริ่มชอบการเล่นโขนเพราะในวัยเด็กได้มีโอกาสตามคุณลุงไปเที่ยวงานวัดและที่งานวัดมีการแสดงโขน เมื่อได้ชมการแสดงโขนลิงในงานวัดก็เกิดความประทับใจและชอบมาก จึงมีความต้องการเล่นเป็นโขนลิง จึงได้ของลุงไปสอบที่โรงเรียนนาฏศิลป์ โดยเลือกศึกษาประเภทโขนลิง จากความสนใจในการศึกษาและมีความสามารถในด้านการแสดง ท่านจึงได้รับการสืบทอดและร่วมแสดงโขนกับ ครูกรี วรศะริน จนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชานาฏศิลป์ชั้นสูง ได้สอบบรรจุเข้าสอนที่กองการสังคีต เป็นระยะพอสมควรจึงเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ในระหว่างเรียนก็ทำงานที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กองการสังคีตไปด้วย อาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว หลังจากได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านโขนลิงแล้ว ก็ได้แสดงโขนลิงมาโดยตลอดแทบทุกตัว เนื่องจากมีความสนใจในการเรียนโขนลิงมาก จึงได้รับความเอ็นดู และมักจะได้มีโอกาสร่วมแสดงโขนกับครู อยู่บ่อยครั้งและได้รับการถ่ายทอด เช่น ครูกรี วรศะริน, ครูเอนก คราประยูร, ครูสงัด โอซะกะ, ครูบุญชัย เฉลยทอง, ครูฤกษ์ชัย เชวงรัตน์, ครูช่วย สุดแสดง , ครูฉลาด พกุลานนท์ และ ครูแสวง อัฏฏะวัชระ นอกจากนี้อาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ยังได้ศึกษากระบี่กระบองกับครูจำนง บำเพ็ญทรัพย์ ณ ค่ายหมู่บ้านช่างหล่อ จนเกิดความชำนาญและนำมาใช้ประกอบการเรียนและการแสดง เช่น พลองไม้สั้น กระบี่กระบอง และ ดาบ พร้อมทั้งเรียนวิชาคีตศิลป์หรือขับร้องเพลงไทยควบคู่กับการเรียนโขน ละคร เพี่อผู้เรียนจะได้จำบทบาทและอารมณ์ของเพลงเหล่านั้น โดยได้เรียนกับครูฉะอ้อน ครูลิ้นจี่ ครูจารุวรรณ ฯลฯ
 
      อาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ท่านเป็นศิลปินที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการแสดงโขนลิงเป็นอย่างมาก จึงได้รับมอบหมายให้แสดงเป็นหนุมานแทบทุกตอน อาทิ ตอนหนุมานอาสา ตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา หนุมานรบกับวิรุณจำบัง เป็นต้น รวมทั้งได้แสดงละครและรำเบ็ดเตล็ด อาทิ รำกราวอาสาในเรื่องมโนรา รำชัดชาตรี รำสี่ภาค รำเหย่ย รำโคม แสดงละครเรื่อง อนุภาคแห่งความรัก อนุภาพพ่อขุนรามคำแหง และละครพันทางเรื่องราชาธิราชตอนกามมีรบสมิงพระราม เป็นต้น นอกจากงานด้านการแสดงแล้วยังได้สร้างสรรค์ผลงานมากมาย เช่น รำฉุยฉายพาลี รำกราวทหารนเรศวร รำเพลงปลุกใจ ตลอดจนเป็นผู้กำกับการแสดงโขนชุดพิเภกสวามิภักดิ์ ณ โรงละครแห่งชาติ ครูผู้สอนโขนตัวลิง เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักศึกษาตามสถานศึกษาต่าง ๆ และเป็นผู้สร้างสรรค์ท่าเต้นโขนลิงประกอบการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ของกรมศิลปากร ชุดโขนวานรพงศ์ ในงานพระราชพิธีพระเมรุพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และท่านยังเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ถือเป็นศิลปินผู้ผดุงรักษาไว้ด้วยความงามตามแบบแผนของศิลปะการแสดงโขนที่มีบทบาทการแสดงโขนลิงทุกตัวในเรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะบทของหนุมานซึ่งไม่เผยใบหน้า และเนื่องในโอกาสวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เป็นวันคล้ายวันเกิดของ อาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(นาฏศิลป์-โขน) พุทธศักราช ๒๕๕๑ ผู้ล่วงลับ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติผู้มีคุณูปการต่อวงการนาฏศิลป์ของไทย แม้ว่าวันนี้ท่านไม่ได้อยู่แต่ท่านยังฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้มากมายและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสืบไป
 
............................................
 
ขอขอบคุณที่มา : http://art.culture.go.th/art01.php?nid=181  ,
 หนังสือศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๑
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)