
๘๓ ปี ศิลปินแห่งชาติผู้บุกเบิกวิชาชีพ ภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศไทย ศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำ ท่านเกิดที่จังหวัดเชียงราย เมื่อ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒ จบการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Master of Landscape Architecture จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตลอดระยะเวลา ๔๐ กว่าปี ที่อาจารย์เดชา คว่ำหวอดอยู่ในวงการสถาปนิกของไทยโดยเฉพาะในด้านภูมิสถาปัตยกรรม ท่านเป็นสถาปนิกอาวุโสที่ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านภูมิสถาปัตยกรรมได้อย่างดีเยี่ยม จนได้รับการยกย่องและได้รางวัลจากหลายสถาบัน เช่น ศิลปินดีเด่นกรุงเทพมหานคร สถาปนิกด้านการอนุรักษ์พลังงาน นักผังเมืองอาวุโสและผู้ทำคุณประโยชน์แก่การผังเมืองไทย ได้รับการเชิดชูเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ และได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) พุทธศักราช ๒๕๔๙
อาจารย์เดชา ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีส่วนร่วมผลักดันให้ออกฎหมายอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นผู้ร่วมผลักดันและจัดทำผังหลักเริ่มแรกของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในส่วนผังบริเวณและภูมิสถาปัตยกรรม ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ผลงานการออกแบบสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ๕ แห่ง (๒๕๒๓-๒๕๒๗) สวนหลวง ร.๙ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อุทยานเบญจสิริ งานภูมิทัศน์วัดโสธรวรารามวรวิหาร ออกแบบภูมิทัศน์ให้โรงแรมชื่อดัง เช่น ฮิลตันอินเตอร์เนชั่นแนล บางกอก ณ ปาร์คนายเลิศ แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ และ โรงแรมแชงกรี-ลา ภูมิทัศน์ที่พักอาศัย เช่น พระตำหนักสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา พระตำหนักสิริยาลัย และทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ท่านยังมีผลงานภูมิทัศน์ของคอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ โรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา สนามบิน วัด และอีกมากมาย
นอกจากผลงานที่สร้างชื่อในฐานะสถาปนิกผู้บุกเบิกภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศแล้ว ท่านยังเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของครูอาจารย์ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้อันทรงคุณค่าไว้เป็นมรดกทางวิชาการแก่นักศึกษา สถาปนิกรุ่นใหม่ ในแบบหนังสือ ตำราวิชาการด้านภูมิสถาปัตย์ ผลงานแปล เช่น ตำรา การวางผังบริเวณและงานบริเวณ , เมืองขวางน้ำ การพัฒนาของเมืองไทยในอนาคต อุปสรรคกับทางออกเชิงนโยบาย ที่สะท้อนภาพจริงต้นตอของวิกฤตน้ำท่วมเมืองใหญ่ และผลงานเขียนชิ้นสำคัญ คือ ตำราการปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม และหนังสือชื่อ 'ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง' ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ งานรุกขกรรม อาชีพรุกขกร และการศัลยกรรมต้นไม้ เป็นตำราทางวิชาการที่ทรงคุณค่าต่อสังคมและวงการศึกษาอย่างยิ่ง