
ศาสตราจารย์เกียรติคุณเสริมศักดิ์ นาคบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบอุตสาหกรรม) พุทธศักราช ๒๕๕๘ เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ที่จังหวัดชัยนาท สำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชามัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระดับปริญญาโท สาขาวิชา Ceramic Art จาก University of Hawai U.S.A. ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบหัตถอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้รับทุนต่าง ๆ จากหลายสถาบัน เช่น ใต้รับทุน Fast-West Center ไปศึกษาวิชา Ceramics ที่ University of Hawaii U.S.A เป็นต้น
ศาสตราจารย์เกียรติคุณเสริมศักดิ์ นาคบัว คือ บุคคลแรกที่นำเซรามิกสมัยใหม่เข้าในประเทศไทย และมีส่วนสำคัญในการผลักดันและยกระดับการศึกษาเครื่องปั้นดินเผาของประเทศไทยตั้งแต่ต้น เพราะท่านคือผู้ริเริ่มเปิดสอนรายวิชาเครื่องเคลือบดินเผาในคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทศึกาค้นคว้าในด้านเครื่องเคลือบดินเผาอย่างไม่หยุดนิ่งและพัฒนาการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา จนสามารถยกระดับรายวิชาเครื่องเคลือบดินเผาให้เป็นภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผาแห่งแรกของประเทศไทย อีกทั้งได้คิดค้นเอาเผา ชรามิกแบบต่อเนื่อง (Periodic) ชนิดทางเดินลมร้อนลง (Downdraught) และใช้แก๊สปิโตรเลียมเหลว เป็นเชื้อเพลิงขึ้นเป็นเตาแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับ ระดับโลก เรื่อง เคลือบขี้เถ้าพืช คือใช้ขี้เถ้าพืชและวัตถุดิบในประเทศไทย พร้อมทั้งแนะนำวิธีที่จะไม่ทำให้เกิด การตัดไม้ทำลายป่า เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่ได้ผลดี รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้ง ภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนได้รับรางวัลนักออกแบบแห่งปี ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติ ที่มอบแก่นักออกแบบไทย ผู้มีประสบการณ์ระดับสูงที่มีผลงานออกแบบอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลามากกว่า ๒๐ ปี เป็นแบบอย่างที่ดีและมีคุณูปการแก่วงการออกแบบ สังคมและประเทศชาติ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณเสริมศักดิ์ นาคบัว มีผลงานศิลปะเครื่องเคลือบดินเผาหลากหลาย ส่วนใหญ่รูปทรงงานศิลปะได้แรงบันดาลใจการสร้างผลงานแบบอิงธรรมชาติ เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ ต้นหญ้า เมล็ดพืช รวมทั้ง สัจธรรมต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว จึงทำให้ผลงานเน้นความงามตามธรรมชาติของพื้นผิวที่แสดงอยู่ในผลงาน โดยมีลักษณะเด่น คือ การเคลือบด้วยขี้เถ้าพืช ให้ความรู้สึกสงบเงียบ สง่างาม ซ่อนความขลัง (Mystic) จึงส่งผลให้ชิ้นงานมีชีวิต (Spirit) และเป็นชีวิตที่ไม่มีวันตาย เหนือกว่านั้นเคลือบขี้เถ้าพืชกลุ่มสีเขียว (Celadon) ยังกระตุ้นอารมณ์ให้เกิดจินตภาพ (Image) ของความบริสุทธิ์ ในความเป็นธรรมชาติของการเคลือบได้อย่างชัดเจน คุณลักษณะต่าง ๆ นี้ หาได้ยาก ในการเคลือบชนิดอื่น ๆ ซึ่งผลงานที่สร้างสรรค์ได้นำไปจัดแสดงและเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าที่ระลึกเพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยวในเขตจังหวัดภาคใต้ในโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างสรรค์งาน Ceramic แบบ High Relief ประดับผนังโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การปั้น การเผาเคลือบและการติดตั้ง ออกแบบผลิตภัณฑ์ Terra Cotta สำหรับช่างพื้นบ้าน ตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ในโครงการกระทรวงอุตสาหกรรม การจัดนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยวทางเครื่องเคลือบดินเผา "ดินที่ฉันรัก” ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ พ.ศ. ๒๕๕๗ และในเดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘เป็นต้น นอกจากนี้ยังสละเวลาในการทำประโยชน์เพื่อสังคมอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ กรรมการและวิทยากรในการพัฒนาสินค้าของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เช่น โครงการเปิดโลกทะเลชุมพร โดยได้แนะนำให้ชาวบ้านเก็บดอกไม้แห้ง ต้นไม้ กิ่งไม้ที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า นำมาผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างดี เป็นวิทยากรเพื่อพัฒนารูปแบบเครื่องปั้นดินเผา เพื่อส่งออกของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
ปัจจุบัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณเสริมศักดิ์ ยังคงทุ่มเทให้กับงานด้านเซรามิกอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการการตัดสินประกวดศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ และเนื่องในโอกาสวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ เป็นวันครบรอบวันเกิด ๘๗ ปี ของศาสตราจารย์เกียรติคุณเสริมศักดิ์ นาคบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๕๘ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติผู้บุกเบิกการเรียนการสอนเกี่ยวกับเครื่องเคลือบดินเผา ในคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิค วิธี ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์งานศิลปะทางเครื่องเคลือบดินเผาในสถาบันต่างๆและงานอุตสาหกรรมทางด้านนี้
..............................................................
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๘ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม