จะมีศิลปิน จิตรกร ประติมากร หรือแม้แต่นายช่างศิลป์ซักกี่คน ที่มีความสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่าง ๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยชั้นเชิง และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ๑ ใน ๕๒ นายช่างเอกในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๑ ในนี้คือ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช ๒๕๔๓ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งวันนี้ท่านมีอายุครบ ๗๙ ปี เต็ม แม้วัยจะล่วงเลยและสังขารที่โรยรา แต่จิตวิญญาณของศิลปินที่ยึดมั่นภูมิปัญญาของศิลปะไทย ยังพร้อมที่จะแสดงและถ่ายทอดให้อนุชนรุ่นใหม่ได้ประจักษ์และเห็นคุณค่า ความงามของศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย
อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๖ ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษา ศิลปะบัณฑิต (จิตรกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาศิลปกรรมศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานฤมิตศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาประยุกต์ศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านได้รับการยกย่องเป็น ๑ ใน ๕๒ นายช่างเอกในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเป็นศิลปินอิสระที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมทั้งแบบไทยประเพณีรวมถึงศิลปะร่วมสมัย มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง โดยเฉพาะผลงานที่วิจิตรงดงามบ่งบอกถึงพื้นฐานความรู้ที่แตกฉานด้านวรรณกรรม พุทธศาสนาประวัติศาสตร์ศิลปะไทยและสากล มีชั้นเชิงการเขียนภาพและความรู้รอบตัว อาทิ ภาพเหมือนคน ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ ภาพจิตรกรรมไทยจำนวนมากได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในระดับชาติใช้ประดับตกแต่งสถานที่สำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นสมบัติของชาติที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ
อาจารย์จักรพันธุ์ เป็นแบบอย่างศิลปินที่มีความรับผิดชอบสูง ผลงานของท่านแต่ละชิ้นก่อนเผยแพร่ สู่สาธารณชน จะต้องได้รับการศึกษาค้นคว้าในเนื้อหา ความถูกต้อง และคัดสรรวัสดุที่มีคุณภาพมาสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น งานจิตรกรรมฝาผนังวัดตรีทศเทพวรวิหาร กรุงเทพฯ และที่วัดเขาสุกิม จันทบุรี ด้านงานการกุศล ดำเนินการซ่อมหุ่นหลวง หุ่นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ให้คืนสู่สภาพที่สมบูรณ์สวยงามก่อนนำออกตั้งแสดง และมีงานวิจัยหุ่นไทยที่ท่านศึกษาค้นคว้า ได้รับการพิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นต้นแบบแก่ผู้ที่สนใจให้สามารถนำไปศึกษาและปฏิบัติ งานด้านประณีตศิลป์อันวิจิตร เช่น งานปักสะดึงกรึงไหม ที่ปรากฏอยู่บนย่ามและตาลปัตร ในงานพระราชกุศลฉลองวันคล้ายวันประสูติครบ ๖๐ ปี ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์
รวมทั้งงานวิจิตรศิลป์ที่อยู่บนเครื่องแต่งกายละคร หุ่นหลวง หุ่นหน้าวัง หุ่นกระบอก ที่ท่านได้ซ่อมและสร้างขึ้น ได้รับการถ่ายทอดให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาบุคคลทั่วไปมาโดยตลอด นับได้ว่าท่านเป็นศิลปินที่มีคุณสมบัติน่ายกย่อง สร้างผลงานด้านทัศนศิลป์ที่มีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง สร้างงานศิลป์ได้หลายแขนง ล้วนเป็นประโยชน์แก่สาธารณ ผลงานของท่านแสดงถึง การสืบสาน การพัฒนา การสร้างสรรค์ การอนุรักษ์ และการเผยแพร่ได้อย่างครบถ้วน ทำให้ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช ๒๕๔๓