กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
ศิลปินแห่งชาติ ผู้ถ่ายทอดแก่นแท้นาฏศิลป์

วันที่ 31 ก.ค. 2565
 

 
      หนึ่งในบุคคลากรที่มีความสามารถที่หลากหลายของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ "รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ” ทั้งเรื่องราวของนาฏศิลป์ เริ่มจากการเป็นครู สู่การเป็นนักแสดงละคร จวบจนกระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง คณบดีคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
 
     อาจารย์ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) พุทธศักราช ๒๕๔๘ เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ ที่บางซื่อ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของคุณพ่อสำเภาและคุณแม่เพียร จันทร์สุวรรณ์ มีพี่น้องสี่คน สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขานาฏยศิลป์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มรับราชการครู ตำแหน่ง ครู ๒ ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากรและมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพราชการโดยลำดับ ตำแหน่งสูงสุดของชีวิตราชการคือ คณบดีคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม
 
     อาจารย์ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ชื่นชอบด้านนาฏศิลป์ตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาที่มีการสอนนาฏศิลป์นอกเวลาอย่างจริงจัง และนำไปแสดงปีละหลายครั้ง ประกอบกับได้ดูศิลปินที่มีชื่อเสียงแสดงโขนละครอยู่เสมอ ทำให้ประทับใจเรื่อยมาและมีความมุ่งมั่นในการเรียนด้านนี้ โดยอาจารย์ศุภชัยได้ศึกษานาฏศิลป์จากสถานศึกษาหลายแห่งจนมีความเชี่ยวชาญ สามารถสร้างเอกลักษณ์การฟ้อนรำที่โดดเด่นเป็นแบบฉบับของตนเอง ได้แก่ การรำโขนพระ รำด้วยท่วงท่างามสง่า การรำละครนอก รำไปพร้อมกับใช้อารมณ์ตามท้องเรื่อง การรำละครในด้วยความนิ่มนวล เป็นผู้ที่มีผลงานการแสดงโขนละครมาอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิตาลี เป็นต้น โดยรับบทแสดงเป็นตัวพระ ตัวนาง (ละครนอก) พระเอก นางเอก เช่น พระราม พระอภัยมณี พระสังข์ กระหมังกุหนิง พลายชุมพล คาวี เป็นต้น นอกจากนั้นยังออกแสดงนาฏศิลป์ประเภทระบำชุดอีกเป็นจำนวนมาก การได้ออกแสดงบนเวทีให้ประชาชนชมในบทบาทตัวละครหลากหลาย ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการรำตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทยทุกประเภท อาจารย์ศุภชัยจึงเปรียบเสมือนคลังแห่งความรู้ที่พร้อมจะถ่ายทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลังได้ทุกเรื่องในวรรณคดี การันตรีด้วยรางวัลเกียรติยศมากมาย อาทิ รางวัลประกายเพชร จากมูลนิธิเพชรภาษา พ.ศ. ๒๕๔๔ รางวัลเพชรสยาม ประจำปี ๒๕๔๘ สาขาการแสดงและนาฏศิลป์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และ รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น จากคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นต้น
 
     สำหรับงานสำคัญที่สุดงานหนึ่งในชีวิตของอาจารย์ศุภชัย คือ การได้มีส่วนร่วมในงานแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน แม้บางช่วงจะหายไปจนกระทั่งมีการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ เนื่องจากคนไทยมีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้นงานมหรสพสมโภชจึงเปรียบเสมือนการเฉลิมฉลองการเสด็จกลับสู่สวรรค์ รวมถึงยังเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน โดยอาจารย์ศุภชัยรับผิดชอบเป็นผู้กำกับการแสดงและดูแลเรื่องของละคร ที่ทางกรมศิลปากรมอบโจทย์มาให้ ๒ เรื่องคือละครอิเหนากับมโนราห์ ซึ่งจะต้องบูรณาการกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญศิลปินที่มีอยู่มากมายให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด การแสดงในงานหน้าพระเมรุมาศครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งใด มันมีความรู้สึกหลายอย่างผสมกัน คือความภูมิใจที่เป็นเกียรติได้มาทำงานตรงนี้ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ใช่ใครจะเข้ามาทำได้ แล้วเป็นการถวายงานครั้งสุดท้ายคือเป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ได้จริงๆ ที่สำคัญเวทีละครเป็นเวทีที่ใกล้พระเมรุมาศกว่าเวทีอื่น ๆ แล้วยิ่งเมื่อเวลามีเจ้านายเสด็จ ฯ มาชมตรงนี้มันคือเกียรติประวัติที่เราต้องทำงานถวายสูงสุดในชีวิต
 
     ปัจจุบันหลายส่วนก็พยายามปรับเปลี่ยนให้นาฏศิลป์เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เช่น จากเดิมที่เล่นกัน ๓ ชั่วโมงกว่า ๆ แต่เดี๋ยวนี้ก็ปรับให้กระชับ มีการรวมเอาละครตัวเอกเข้ามาภายในระยะเวลาไม่นานนัก ให้เด็กได้รู้เลยว่าหนุมานเกิดมาจากไหน ไปทำอะไรและสุดท้ายเป็นอย่างไร ทำเป็นตอน ๆ ย่อเนื้อเรื่องให้สั้นลง แต่ว่าไม่ทิ้งจารีตหรือว่าองค์ความรู้เดิม แล้วพยายามส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามาในงานศิลปะมากขึ้น และเนื่องในโอกาสวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เป็นวันครบรอบวันเกิด ๖๗ ปี ของ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) พุทธศักราช ๒๕๔๘ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ผู้มีคุณูปการต่องวงการนาฏศิลป์ไทย
 
....................................................
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)