
วันนี้ ครูบุญเลิศ นาจพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ลิเก) พุทธศักราช ๒๕๓๙ มีอายุครบ ๘๐ ปีเต็มแล้ว ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๘๕ เป็นชาวจังหวัดอ่างทอง ท่านเริ่มเข้าสู่วงการลิเก ด้วยบิดาของท่านรู้จักคุ้นเคยกับ ครูหอมหวล นาคศิริ หัวหน้าคณะลิเกหอมหวล ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งยุค ด้วยหน้าตาดีและกิริยามารยาทเรียบร้อยจึงฝากตัวให้ฝึกอาชีพการแสดงลิเก ได้ฝึกอยู่ ๑ ปี และได้แสดงเป็นพระเอกวัยเด็ก (รับบทกุมาร) เรื่อง โอรสใจสิงห์ ด้วยความที่ท่านมีความจำดีสามารถท่องจำบทกลอน ร้องเข้ากับทำนองดนตรีได้อย่างแม่นยำ จดจำท่ารำได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับน้ำเสียงดี แถมมีปฏิภาณไหวพริบ มีใจรักการแสดง ทั้งยังขยันหมั่นเพียรที่จะเรียนรู้และฝึกฝน จึงส่งผลให้ท่านเป็นที่รักของครูอาจารย์ จึงได้มีโอกาสออกตระเวนแสดงฝีมือเล่นลิเกเร่ไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในนามคณะหอมหวล
ลิเกบุญเลิศ เป็นหนึ่งในพระเอกลิเกที่ได้รับความนิยมชมชอบอย่างมาก จึงเป็น "ศิษย์หอมหวลรุ่นพิเศษ” ที่ไม่ต้องประจำคณะใด ๆ ในหอมหวลที่มีถึง ๙ สาขา แต่จะได้คิวสลับกันไปปรากฏตัวบนเวทีเกือบทุกแห่ง ผู้ชมลิเกส่วนมากจะติดใจในความงามของพระเอกบุญเลิศ ที่มีความครบเครื่อง รูปงาม รำสวย ร้องเพราะ เจรจาอ่อนหวานน่าฟัง พระเอกบุญเลิศ ไปแสดงลิเกวิกไหน ประชาชนจะรุมล้อมเข้าชมกันอย่างแน่นขนัด ทำให้ชื่อเสียงของ พระเอกบุญเลิศ เลื่องลือไปไกลทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทยดังไปถึงต่างประเทศ เช่น พม่า ลาว มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ด้วย
ประสบการณ์ที่ได้รับในการแสดงกับคณะลิเกชื่อดัง และความยอมรับจากผู้ชมทั่วประเทศ ในการอนุรักษ์และแสดงลิเกทรงเครื่องแบบโบราณทั้งการรำ การร้อง และการแต่งกายไว้อย่างครบถ้วน สืบทอดจากนายหอมหวล นาคศิริ บรมครูด้านลิเก เมื่อท่านได้ตั้งคณะลิเกเป็นของตนเอง ประกอบกับความกตัญญูรู้คุณต่อครูบาอาจารย์ ท่านจึงใช้ชื่อคณะว่า "คณะบุญเลิศ ศิษย์หอมหวล” นอกจากการแสดงลิเกแล้ว ท่านยังมีความสามารถในการประพันธ์บทลิเกทั้งทางร้อยแก้ว ร้อยกรอง และนำไปแสดงในโอกาสต่าง ๆ หลายเรื่อง อาทิ สองชุมพล ธงสามชาย เมียทาส เสน่ห์นางโจร ดอกฟ้ารามัญ บัวขาว ฯลฯ
นอกจากครูบุญเลิศจะประสบความสำเร็จในอาชีพลิเก แล้ว ท่านยังเปิดบ้านพักส่วนตัวให้เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดศิลปะการแสดงลิเก ใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมการแสดง สร้างอาชีพให้กับศิษย์และผู้ที่มีใจรักในด้านนี้ ได้จบออกไปตั้งคณะของตนเองหลายขณะ เช่น คณะวิบูลย์ คณะสายใจ คณะหงส์หยก เป็นต้น ท่านยังได้รับเชิญไปเป็นครูสอนการแสดงและการประพันธ์บทลิเกให้กับหน่วยงานต่าง ๆ สถาบันการศึกษาทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ได้รับการประกาศเกียรติคุณมากมาย เช่น โล่พระราชทานที่ระลึกจาก สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการจัดลิเกการกุศลเพื่อสร้างตึกสยามมินทร์ โรงพยาบาลศิริราช โล่การจัดแสดงลิเกช่วยเหลือซับน้ำตาชาวใต้ร่วมกับจังหวัดอ่างทอง เกียรติบัตรการแสดงลิเกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ลิเก) พุทธศักราช ๒๕๓๙