กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
ความแตกต่างที่พอดี

วันที่ 10 ก.ค. 2565
 

     "ผมอยากเป็นจิตรกร ไม่ใช่สถาปนิก” ความมุ่งมั่นแรกที่ตั้งใจว่าภายหลังเรียนจบแล้วจะยึดเป็นอาชีพในอนาคต ของอาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พุทธศักราช ๒๕๖๒

 
     ทั้งที่เรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ แต่กลับไม่อยากเป็นสถาปนิก จึงต้องหางานที่อยู่ตรงกลางระหว่างสถาปนิกและศิลปิน นั่นคือ การเขียนทัศนียภาพและเขียน Perspective ประกอบงานสถาปัตยกรรม จนมีชื่อเสียงโด่งดังในวงการจนได้งานในสิงคโปร์ มาเลย์ ฮ่องกง และบรูไน เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มมีความคิดว่ากลับมาเป็นสถาปนิกก็ดีเหมือนกันประกอบกับมีเพื่อนมาชวนทำบริษัทร่วมกัน แต่ปัญหาก็คือ ไม่เคยมีประสบการณ์และผลงานการออกแบบบ้านมาก่อน ทำให้การขายงานลูกค้าไม่ประสบความสำเร็จ แต่ปัญหานี้ก็กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาเข้าสู่วงการประกวดแบบและได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ภายใต้หลักการทำงานที่ว่า "ผมอยากทำงานที่ให้มันอยู่ได้ถึงร้อยปี มีความมั่นคง และต้องพาภูมิปัญญาหรืออัตลักษณ์สืบสานไปในโลกสมัยใหม่ให้ได้”
 
     "จิตตะวันออก” จึงเป็นอีกหนึ่งแนวคิดหลักของการทำงานที่อาจารย์ชาตรีให้ความสำคัญ ความแตกต่างที่ต้องอาศัยความกลมกลืนและความลงตัว "ที่พอดี” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตวิญญาณ ความเป็นสากลและความเป็นท้องถิ่น ความเจริญและความพอเพียง ความยากจนและความร่ำรวย รวมถึงการใช้นวัตกรรมเป็นตัวกำหนด และการก้าวข้ามมิติความแตกต่างและมิติของความเหมือน เพราะเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นเรื่องของ Topical ที่มีการเชื่อมโยงและพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ใช่การอยู่แบบเอาชนะธรรมชาติ ดังนั้นต้องเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่าง โดยมองความเป็นจริงด้วย งานของผมต้องเป็น "งานสมัยใหม่ที่ใส่จิตวิญญาณความเป็นภูมิปัญญาของเรา” นี่จึงเป็นการตอกย้ำหลักการทำงานที่ยึดมั่นมาตลอดกว่า ๔๐ ปี
 
     จากความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ประจักษ์ด้วยรางวัลมากมาย อาทิ รางวัล "กลุ่มอาคารภูมิพลสังคีต (ฝั่งตะวันตก)” วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัล "สถาปนิกดีเด่น” จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น "เหรียญทอง” กลุ่มอาคารร้านขนมเปี๊ยะ "ตั้ง เซ่ง จั้ว” และเป็นเจ้าของบริษัท ต้นศิลป์ สตูดิโอเป็นต้น
 
     อาจารย์ยังกล่าวอีกว่า "การเป็นศิลปินแห่งชาติสำหรับผม ตอนนี้ก็เหมือนเป็นคนของชาติไปแล้ว งานที่ทำออกมาอาจจะต้องเป็นสมบัติของชาติ ดังนั้นความรับผิดชอบหรือความตั้งใจต้องทำงานให้ดี เหมือนอย่างที่เราทำมาหรือการที่เราจะถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นก็กลายเป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิตของเราหลังจากนี้เช่นกัน”
 
     เนื่องในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นวันคล้ายวันเกิดของชาตรี ลดาลลิตสกุล อายุครบ ๖๔ ปี ขอร่วมเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติ ผู้มีคุณูปการด้านสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าและอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย รวมถึงเป็นแบบอย่างอันดีให้กับสถาปนิกรุ่นใหม่และสังคมไทย
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)