
ผ้าทอทอนาหมื่นศรี เป็นผ้าทอพื้นเมืองของชาวตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านผ้าทอพื้นเมืองมาตั้งแต่อดีต เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทอดพระเนตรผ้าทอที่เมืองตรัง จึงทำให้ผ้าทอนาหมื่นศรีมีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วไป ภายหลังในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ การทอผ้าได้ขาดหายไปช่วงหนึ่ง เพราะขาดเส้นด้ายที่จะใช้ทำวัตถุดิบ รวมทั้งการทอผ้าประจำบ้านที่ใช้วัสดุธรรมชาติปั่นฝ้ายย้อมสีเองก็ลดลง เนื่องจากการมีเส้นใยย้อมสีสำเร็จรูปเข้ามาแทนที่ และประชาชนหันไปให้ความนิยมในผ้าจากโรงงานและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่สามารถซื้อได้ง่ายกว่าการลงมือทอเอง
ต่อมาเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๑๔ การทอผ้านาหมื่นศรีฟื้นคืนมาอีกครั้ง ผ้าทอนาหมื่นศรี แบ่งตามลักษณะโครงสร้างของผืนผ้าได้ ๓ ชนิด ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าตา และ ผ้ายกดอก ซึ่งแต่ละชนิดแบ่งย่อยเป็นชื่อลายต่างๆ ได้อีกหลายลาย
ลักษณะพิเศษของผ้าทอนาหมื่นศรีได้แก่ โครงสร้างของผืนผ้า ลวดลาย และสีสันของ ผืนผ้า ผู้ทอที่มีฝีมือจะนำลายหลาย ๆ ลายมารวมไว้ เช่น ลายลูกแก้วใหญ่ ลายลูกแก้วสี่หน่วยใน ลายดอกจัน บางผืนประสมเฉพาะชุดลูกแก้ว เป็นต้น ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ด้านสี ถ้าเป็นประเภท ผ้าห่ม และผ้าเช็ดหน้ายกดอก ที่ทอขึ้นใช้เองหรือให้แก่กันจะใช้ด้ายยืนสีแดง ยกดอกสีเหลือง มี บ้างที่ยกดอกสีขาวหรือสีเขียว หากเป็นผ้าทอเพื่อจำหน่ายจะมีการเปลี่ยนแปลงสีด้ายยืนและด้าย พุ่งตามความต้องการของท้องตลาด และในกรณีทอใช้เอง ยังคงเป็นสีแดงเหลืองไม่เปลี่ยนแปลง
ผ้าทอนาหมื่นศรี มีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย ได้แก่ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าสำหรับนุ่งห่ม เช่น ผ้าผืนยาวสำหรับโจงกระเบน ผ้าถุง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าเบี่ยงหรือผ้าสไบ และผ้าทอด้วย จุดประสงค์พิเศษ เช่น ผ้าพานช้าง ผ้าอาสนะ และผ้าตั้ง เป็นต้น
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒