
อาคารบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างของภาคใต้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ แสดงถึงภูมิปัญญาด้านการออกแบบโยชน์ใช้สอยเชื่อมโยงกับธรรมชาติและประโยชน์ในการใช้งาน ตัวอย่างเช่น เรือนที่พักอาศัย
เรือนพื้นถิ่นภาคใต้ เป็นเรือนพักอาศัยที่มีลักษณะร่วมกับเรือนไทยในภาคอื่น ๆ คือ เป็นเรือนไทยไม้ยกพื้นสูง ใต้ถุนสูง ฝาใช้กระดาน ไม้ไผ่สานหรือสังกะสี เครื่องมุงหลังคาเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ส่วนใต้ถุนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เก็บของประกอบอาชีพเสริม เช่น ทำกรงนก สานเสื่อกระจูด หรือใช้ทำคอกเลี้ยงสัตว์ ประเภทของเรือนมีทั้งเรือนเครื่องสับ เรือนเครื่องผูก และเรือนก่ออิฐฉาบปูน เรือนเครื่องผูก ได้แก่ เรือนพักชั่วคราวของชาวนาหรือชาวประมงที่เห็นปลูกเรียงรายไปตามชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
เรือนพื้นถิ่นภาคใต้นิยมสร้างเรือนนอน มีระเบียงตามยาว มีหลังคาคลุม ต่อด้วยชานโล่ง หากต้องการสร้างเรือนเพิ่มมักสร้างเป็นเรือนคู่ เรือนเคียงเชื่อมกันด้วยชาน มีเรือนครัวขวางด้านสกัด ชาวใต้นิยมเลี้ยงนกไว้ดูเล่นใช้ในการแข่งขัน เช่น นกเขาชวา นกกรงหัวจุก เรือนภาคใต้จึงมักมีกรงนกแขวนเป็นส่วนประกอบ ส่วนที่ใช้กันแดดกันฝนคือ หลังคา มักจะทำหลังคาทรงสูงมีความลาดชัน เพื่อให้น้ำฝนไหลผ่านสะดวก และมีการต่อชายคาคลุมบันไดเนื่องจากภาคใต้มีฝนตกชุกมาก เสาเรือนไม่นิยมฝังลงไปในพื้นดิน แต่จะใช้ตอม่อหรือฐานเสาหรือเรียกว่า ตีนเสา ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ศิลาแลง หรือก่ออิฐฉาบปูนรองรับตัวเรือน ซึ่งจะนิยมสร้างให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย
ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีฝนตกชุกเกือบทั้งปี ในอดีตชาวใต้มักจะปลูกไม้ผล เช่น มะพร้าว มะม่วง ขนุน เพื่อให้ได้ร่มเงาและแสดงอาณาเขตบริเวณบ้านเรือน ได้รั้วกั้นเขตแล้วยังได้ประโยชน์ใช้สอยอีก ต่างจากปัจจุบันที่นิยมทำแต่รั้วกั้นซึ่งส่งผลเสียหายยามหน้าน้ำกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล และการวางตัวเรือนจะหันหน้าเข้าหาเส้นทางเดินทั้งทางน้ำและทางบก ทำให้รับลมบกและลมทะเลได้ ดังตัวอย่าง หมู่บ้านหนึ่งในอำเภอคีรีรัฐนิคม สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขา ถ้าฝนตกหนักเพียงชั่วข้ามคืนจึงทำให้เกิดน้ำท่วมได้ หมู่บ้านนี้จึงสร้างบ้านในลักษณะเป็น "แพบก” เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว แต่มีแพลูกบวบไม้ไผ่รองเป็นฐานด้านล่าง บ้านจะผูกอยู่กับเสายาวด้วยห่วงกลม ตัวบ้านจะลอยขึ้นลงตามปริมาณความสูงของน้ำที่ท่วม ถือเป็นภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
เรือนพักอาศัยทางภาคใต้ จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เป็นเรือนพักอาศัยที่สร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่นที่ออกแบบเรือนพักอาศัยให้มีรูปทรงที่เหมาะกับภูมิอากาศ และใช้วัสดุก่อสร้างที่หาได้ในท้องถิ่น
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒