กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน รอยอารยธรรมศรีวิชัย “พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช”

วันที่ 17 ธ.ค. 2564
 
 

      "พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช” ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองโบราณค่อนมาทางทิศใต้ ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช ตำบลในเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระอารามแห่งนี้ เดิมเรียกว่า "วัดพระบรมธาตุ” หรือ "วัดพระธาตุ” ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพระมหาธาตุ” แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเรียก "วัดพระบรมธาตุ” หรือ "วัดพระธาตุ” 

     ประวัติการสร้างวัด ปรากฏในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ที่เรียบเรียงขึ้นในสมัยอยุธยา ทั้งสองเรื่องนี้ มีเนื้อหาคล้ายกับคัมภีร์ทาฐาวังสะของลังกา ซึ่งผู้แต่งได้ผูกเรื่องราวของพระบรมธาตุไว้กับตำนาน ของพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ซึ่งสอดคล้องกันว่าวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๘๕๔ โดยพระนางเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมารและบาคู (นักบวช) ชาวลังกา เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้ว และสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ เพื่อบรรจุไว้ ต่อมา พ.ศ. ๑๗๑๙ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมการบูรณะองค์เจดีย์ขึ้นมาใหม่ ต่อมาในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๒ (ปฐมบทแห่งจตุคามรามเทพ)** ได้นิมนต์พระภิกษุจากลังกามาตั้งคณะสงฆ์และบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมทรงลังกา อันเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน 

     องค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีอิทธิพลศิลปะลังกา อายุราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๘ ซึ่งสร้างเพิ่มเติมในภายหลัง องค์พระบรมธาตุล้อมรอบด้วยระเบียงคด หรือภาษาไทยถิ่นใต้ เรียกว่า "พระด้าน” มีวิหารธรรมศาลาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนท้ายยื่นเข้าในระเบียงคด คล้ายผังวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น ภายในระเบียงคดยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น เจดีย์ราย วิหาร พระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา ส่วนปลียอดของพระบรมธาตุเจดีย์หุ้มด้วยแผ่นทองคำ โดยมีทั้งที่เป็นแผ่นทองเรียบ แผ่นทองดุนลาย และแผ่นทองที่มีจารึก ซึ่งเก่าที่สุดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๒ ยอดบนสุดเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ถักจากลูกปัดร้อยเข้ากันด้วยเส้นลวดทองคำ 

     นอกจากนี้ ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ยังมีโบราณสถานสำคัญอีกหลายแห่ง เช่น พระวิหารหลวงหรือพระอุโบสถ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา วิหารสามจอม มีพระพุทธรูป "พระเจ้าศรีธรรมโศกราช” ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ (พระทรงม้า) ทางขึ้นไปบนลานประทักษิณ วิหารทับเกษตร วิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกา ซึ่งเป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ 

     **ตามตำนานบทหนึ่งเชื่อว่า พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์องค์ที่ ๒ เป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกล้า เมื่อศรีวิชัยใกล้ล่มสลายจึงได้รวบรวมแผ่นดินสถาปนาอาณาจักรตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชได้อย่างมั่นคง มีชื่อเสียงจนถูกเรียกขานว่า "ราชันดำแห่งทะเลใต้" หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า "พญาพังพะกาฬ" แปลว่า ผู้ทำลายความมืดมน ซึ่งต่อมาได้บำเพ็ญบุญสร้างบารมีอธิษฐานจิตเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อบรรเทาทุกข์แก่มวลมนุษย์ ปัจจุบันรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ "จตุคามรามเทพ” 

>>> รอยอารยธรรมศรีวิชัย "พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช” ชมภาพพร้อมคำบรรยาย คลิก www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/171264b.pdf    

ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)