กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ชวนเที่ยวอุทัย ชม “ต้นผึ้งยักษ์” รุกขมรดกของแผ่นดิน อายุกว่า ๔๐๐ปี

วันที่ 23 พ.ย. 2564
 

     พบกันอีกแล้วสำหรับคนรักธรรมชาติ วันนี้แอดมินจะพาเพื่อนๆ ไปตามรอยต้นไม้ใหญ่รุกขมรดกของแผ่นดิน "ต้นผึ้ง หรือ ต้นเชียง” เป็นต้นไม้ ๑ ใน ๖๕ ต้น ในหนังสือ "รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้จัดทำขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๕ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ และไปรู้จักประเพณีเลี้ยงปิดบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ ลาวครั่ง ที่ตั้งถิ่นฐานรวมกันเป็นชุมชนใหญ่ ณ บ้านสะนำ ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
 
     ต้นผึ้ง หรือ ต้นเชียง ในอดีตที่จังหวัดอุทัยธานีมีอยู่อย่างหนาแน่นเพราะเป็นป่าดิบเดิม แต่เมื่อมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนก็เริ่มแผ่วถางพื้นที่ป่าเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ต้นไม้ใหญ่ก็ถูกโค่นเป็นจำนวนมากไปทำบ้านเรือนอาศัย คงเหลือแต่ต้นผึ้งยักษ์ต้นนี้อยู่กลางป่าหมาก ณ บ้านสะนำ ซึ่งเดิมเป็นของพ่อตาของนายเฮียง ชาวป่า เคยคิดจะขายให้กับพ่อค้าไม้ เพื่อนำไปก้านไม้ขีดไฟ ทำไม้ไอศกรีมและเอาพูพอนไปทำที่ตีข้าว แต่นายเฮียงได้ขอต้นผึ้งนี้ไว้ไม่ให้พ่อตาขาย เพราะเห็นว่ามีคุณค่าและความสำคัญ อีกทั้งคงเหลือเพียงต้นนี้ต้นเดียวในชุมชน จึงดูแลรักษามาจนถึงปัจจุบัน คาดว่ามีอายุราวๆ ๓๐๐- ๔๐๐ ปี ลักษณะเด่น คือ เป็นไม้เนื้ออ่อน มีพูพอนไว้ค้ำยันลำต้นให้คงอยู่ ถ้าวัดเส้นรอบวงแนบตามพูพอนที่ยื่นออกมาจะได้ ๙๗ เมตร วัดเส้นรอบวงแนบตามพูพอนหรือรากมหัศจรรย์ที่ยื่นออกมาได้ ๙๗ เมตร ขนาด ๔๐ คนโอบ เปลือกเรียบ มีใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว กลิ่นหอม จึงทำให้ผึ้งชอบมาสร้างรังมักพบผึ้งหลวงรังขนาดใหญ่เกาะอยู่บนต้นเป็นประจำ เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีพูพอนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ท่ามกลางป่าหมากอันร่มรื่นมีอยู่มากมายมหาศาล จึงเรียกขานกันว่าป่าหมากล้านต้น นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงกันยังเป็นที่ตั้งของ "ศาลเจ้าบ้าน” อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยเชื้อสายลาวครั่งทุกหมู่บ้าน โดยทุกๆ ปี ในวันแรม ๑ คำ เดือน ๖ จะมีพิธีเลี้ยงเจ้าบ้านและประเพณีปิดบ้าน ซึ่งสืบสานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อครั้งอพยพมาจากกรุงเวียงจันท์ เป็นพิธีที่แสดงถึงความกตัญญูและความเคารพต่อวิญญาณบรรพบุรุษ ที่คอยปกปักรักษาคุ้มครองและให้ลูกหลานอยู่ดีกินดี ที่ดินทำกินมีความอุดมสมบูรณ์ พืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญงอกงาม ซึ่งต้นผึ้งยักษ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมนี้ด้วย
 
     สำหรับพิธีเลี้ยงเจ้าบ้านและประเพณีปิดบ้านของกลุ่มลาวครั่งนั้น ก่อนวันปิดบ้านหนึ่งวัน ที่บ้านสะนำ ชาวบ้านจะทำพิธีปิดบ้านกันที่ศาลเจ้าบ้าน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณป่าหมากล้านต้น ช่วงกลางวันชาวบ้านจะพากันทำขนมที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของงานเลี้ยงปิดบ้านคือ ขนมนมสาว ขนมตาควาย และข้าวต้มมัด เพื่อใช้ในพิธีเลี้ยงปิดบ้านในวันรุ่งขึ้น เด็กๆในชุมชนจะมารวมตัวกันที่บ้านผู้ใหญ่และเรียนรู้การทำขนมโบราณร่วมกับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนด้วย พอตกกลางคืนก็จะมีการละเล่นต่างๆบริเวณลานกลางบ้าน ทั้งการเล่นเกี่ยวกับจิตวิญญาณ เช่น การเรียกผีนางดง การเรียกผีนางแคน หรือการเรียกผีนางกวัก เป็นการเชิญวิญญาณผู้เสียชีวิตไปแล้วมาเข้าสิงเพื่อ เล่น รำ กันอย่างสนุกสนาน ที่นี้ชาวบ้านจะนับถือ "เจ้าบ้าน” ด้วยความศรัทธาและด้วยความเคารพทุกครัวเรือน ในชุมชนที่นี้จะมีผู้ทำพิธีกรรมติดต่อกับ "เจ้าบ้าน” เรียกว่า "จ้ำ” และ "จ่า” เป็นผู้ช่วย จะทำการเสี่ยงทายกับเจ้าบ้านว่าปีนี้จะให้ชาวบ้านนำอะไรมาเลี้ยง ปกติถ้าเป็นปีที่มีเดือนแปดสองหน ชาวบ้านจะต้องนำ "หมู” มาเลี้ยงเจ้าบ้าน แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะใช้ "ไก่” เลี้ยงเจ้าบ้านแทน และจะกำหนดวันเลี้ยงปิดบ้านว่าเป็นวันไหนเมื่อได้ก็จะแจ้งให้คนในชุมชนได้ทราบโดยพร้อมเพียงกัน ความเชื่อเหล่านี้เปรียบเสมือนการสร้างความเข็มแข็งให้ร่างกายและจิตใจของทุกคนในชุมชน ในยามว่างจากการประกอบอาชีพเกษตร ก่อเกิดความรักความสามัคคี ความผูกพันในหมู่ของตนเองและต่างหมู่บ้านกัน เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแต่งดงามในสังคมชนบทที่เรายังคนพบเห็นได้ ซึ่งเราหาไม่ได้แล้วในสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสน
 
     ดังนั้น จุดหมายปลายทางเช็คอินครั้งต่อไป แอดมินอยากชวนเพื่อนๆ ลองปักหมุดไว้ที่อำเภอบ้านไร่ดูสักครั้ง มาแล้วจะประทับใจในวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของผู้คนริมฝังแม่น้ำสะแกรัง แวะมาโอบกอดธรรมชาติ ชมความยิ่งใหญ่ของต้นผึ้งยักษ์ รุกขมรดกของแผ่นดินที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้ให้เราชื่นชม ไหว้พระทำบุญ ณ วัดถ้ำเขาวง ชมแหล่งทอผ้าราคาแพงที่สุดของประเทศไทย ณ พิพิธภัณฑ์เรือนผ้าย่ายาย ก่อนกลับแวะช้อปที่ตลาดซาวไฮ่อุดหนุนสินค้าทางการเกษตรพื้นบ้านเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนกันนะคะ
 
     สำหรับเพื่อนๆที่สนใจอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ทรงคุณค่า ทั้ง ๖๕ ต้น สามารถดาวน์โหลดหนังสือ "รุกข มรดกของแผนดิน ใต้ร่มพระบารมี” ได้ที่ http://tree.culture.go.th/mobile
 
.................................................................
 
ขอขอบคุณที่มา: หนังสือรุกขมรดกของแผ่นดิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, http://oknation.nationtv.tv/blog/kopai/2015/12/15/entry-1
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)