กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
คุณค่า สาระ แห่งประเพณีลอยกระทง

วันที่ 11 พ.ย. 2562
 

     วันเพ็ญ เดือนสิบสอง คืนวันพระจันทร์เต็มดวงส่องแสงนวลเป็นประกายกระทบพื้นน้ำ บรรยากาศเหมาะกับการลอยกระทงยิ่งนัก
     ปีนี้วันลอยกระทง ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
 
     ลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ งานลอยกระทงเริ่มทำตั้งแต่กลางเดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือ ช่วงวันเพ็ญเดือน ๑๒ เพราะเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง ทำให้แม่น้ำใสสะอาด แสงจันทร์ส่องสว่างเวลากลางคืน เป็นบรรยากาศที่สวยงามเหมาะแก่การลอยกระทง เดิมพิธีลอยกระทงเรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ เพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ครั้นคนไทยรับนับถือพุทธศาสนา ก็ทำพิธียกโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย
 
     กล่าวถึงสาระสำคัญของการลอยกระทงที่สอดแทรกอยู่ในประเพณีลอยกระทง คือ เรื่องของความกตัญญูรู้คุณ คนโบราณเชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการขอขมาน้ำหรือแม่น้ำคงคา ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตอำนวยประโยชน์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม น้ำอาบ น้ำใช้ หรือน้ำที่หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหารด้วยความสำนึกในบุญคุณของน้ำจึงได้กำหนดวัดเพื่อแสดงความกตัญญูขึ้นปีละครั้ง นอกจากนี้คนโบราณบางกลุ่มยังมีความเชื่อต่างกันออกไป เช่น เชื่อว่าลอยกระทงเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า บางกลุ่มก็เชื่อว่าเป็นการลอยเพื่อบูชาบรรพบุรุษ แต่ไม่ว่าแต่ละกลุ่มจะมีความเชื่อเช่นไรความหมายของประเพณีนี้ ก็คือความกตัญญู ซึ่งเป็นคุณธรรมที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของคนไทยโดยแท้ ส่วนในเรื่องของคุณค่าของประเพณีลอยกระทงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยเราได้แก่ คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การประดิษฐ์กระทง แล้วนำไปลอยน้ำเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อน้ำที่ให้คุณประโยชน์ บางท้องถิ่นจะลอยเพื่อแสดงการรำลึกถึงบรรพบุรุษ คุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน เช่น ร่วมกันคิดประดิษฐ์กระทง เป็นการส่งเสริมและสืบทอดศิลปกรรมด้านช่างฝีมือ และยังเป็นการพบปะสังสรรค์สนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจร่วมกัน คุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้มีความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการช่วยกันรักษาความสะอาดแม่น้ำลำคลอง และ คุณค่าต่อศาสนา คือ ช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่น ทางภาคเหนือ เชื่อว่าการลอยกระทงเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าและยังจัดให้มีการทำบุญทำทาน การปฏิบัติธรรมและฟังเทศน์ด้วย
 
     ปัจจุบันประเพณีลอยกระทงอาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างไปตามยุคสมัยและมีกิจกรรมที่เบี่ยงเบนไปบ้าง เช่น การจุดดอกไม้ไฟ ประทัด หรือพลุ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นอย่างคึกคะนอง ไม่คำนึงถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้คนและยวดยานพาหนะที่สัญจรไปมา การประกวดนางนพมาศ การประกวดหนูน้อยนพมาศ ก็ไม่ควรให้ความสำคัญมากจนเกินไป จนเป็นกิจกรรมหลักของประเพณี ซึ่งแท้จริงไม่ใช่แก่นแท้ของประเพณี เป็นเพียงกิจกรรมที่เสริมขึ้นมาภายหลัง เพื่อสร้างความสนุกสนานและเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวและการประดิษฐ์กระทง รวมถึงมีการรณรงค์ใช้วัสดุพื้นบ้านที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาประดิษฐ์กระทง เช่น ใบตอง หยวกกล้วย ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายและย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ ลดการใช้วัสดุโฟม ซึ่งย่อยสลายยาก ทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรกเน่าเหม็น ละเกิดมลภาวะเป็นพิษ และยังเชิญชวนให้มีการลอยกระทงร่วมกัน เช่น ๑ ครอบครัว ๑ กระทง เพื่อลดปริมาณขยะและการจัดเก็บ
 
     สำหรับปีนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดจัดงานประเพณีลอยกระทงนำร่องในพื้นที่ส่วนกลางระหว่างวันที่ วันที่ ๔ – ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ ตลาดนัดวัฒนธรรม ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง สำหรับในส่วนภูมิภาคได้ร่วมกับจังหวัดต่าง ๆ จัดงานประเพณีลอยกระทง ได้แก่ งานสืบสานประเพณีลอยกระทง "บารายศรัทธา สมมาสายน้ำ ปราสาทเมืองต่ำ น้อมนำบูชา” จังหวัดบุรีรัมย์ งานประเพณี "สมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป” จังหวัดร้อยเอ็ด งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น โดยในแต่ละแห่งจะมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น การแสดงพื้นบ้าน การสาธิต และจัดนิทรรศการความรู้เรื่องประเพณีลอยกระทง นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้พื้นที่ต่าง ๆ จัดประเพณีลอยกระทงอย่างงดงามและปลอดภัย
 
     ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารต่างๆได้ที่ www.culture.go.th /แฟนเพจ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม/Line @วัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)