กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน รอยอารยธรรม “ศรีวิชัย” ๒

วันที่ 1 ต.ค. 2564
 

     คำว่า "ศรีวิชัย” ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (George Caedès) ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกและประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวฝรั่งเศส บัญญัติศัพท์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ในบทความเรื่อง ราชอาณาจักรศรีวิชัย ตีพิมพ์ในวารสารสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ(ทิศตะวันออก) ทำให้ชาวโลกได้รู้จักอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่คาบสมุทรและหมู่เกาะทะเลใต้ และยังระบุว่าศูนย์กลางของอาณาจักร อยู่ที่เมืองปาเล็มบัง ตอนใต้ของเกาะสุมาตรา จากการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ประกอบการสันนิษฐาน เช่น ชื่อลี่โฝซี่ ในบันทึกของหลวงจีนอี้จิง พุทธศตวรรษที่ ๑๓ จารึกภาษาสันสกฤต "ศรีวิชัย” พบที่ปาเล็มบัง จารึกหลักที่ ๒๓ วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช บันทึกอาหรับ "ศรีบูซา” และ "ซาบัค”
 
     อันที่จริง ก่อนหน้านี้ได้มีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ของอาณาจักรนี้ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้เรียกว่า "ศรีวิชัย” เช่นใน พ.ศ. ๒๒๖๑ บาทหลวงเรอโนโดต์ (Renaudot) ตีพิมพ์คำแปลจดหมายเหตุ การเดินทางของชาวอาหรับ ๒ คน ซึ่งเดินทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ พ.ศ. ๑๓๙๔ และ พ.ศ. ๑๔๘๖ ได้กล่าวถึงรัฐที่มีความสำคัญทางการค้า ตั้งอยู่ระหว่างอินเดียและจีน มีนามว่า "เซอร์เบซา” (Serbeza) หรือ "ศรีบูซา” (Sribusa)
 
     พ.ศ. ๒๔๓๙ ตากากุสุ (Takakusu) ชาวญี่ปุ่น ได้แปลจดหมายเหตุ การเดินทางไปสืบทอดศาสนาพุทธของพระภิกษุจีน หรือหลวงจีน อี้จิง (I Ching) หนึ่งในนักบวชจีนที่มีชื่อเสียงด้วยศรัทธาแรงกล้าในการสืบทอดและเผยแพร่พุทธศาสนา เฉกเช่น "พระถังซัมจั๋ง” จากบันทึกของหลวงจีนอี้จิง เรื่อง บันทึกการปฏิบัติธรรมในอินเดียและหมู่เกาะมลายู ที่ส่งจากทะเลใต้กลับบ้าน (A Record of The Buddhist Religion as Practiced in India and The Malay Archipelago Sent Home From The Southern Sea) ตากากุสุ เรียกชื่อเมืองว่า โภคะ หรือ ศรีโภคะ (Bhoga/Sri Bhoga) ซึ่งภายหลัง ยอร์ช เซเดส์ เรียกว่า "ศรีวิชัย”
 
     นอกจากนี้ ในภาคใต้ของไทยยังพบจารึกที่ร่วมสมัยกับศรีวิชัยทั้งหมด ๗ หลัก ได้แก่ จารึกหลักที่ ๒๓ วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จารึกหลักที่ ๒๔ และหลักที่ ๒๕ (ที่ฐานพระพุทธรูปนาคปรก) วัดหัวเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จารึกหลักที่ ๒๖ เขาพระนารายณ์ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จารึกหลักที่ ๒๗ ที่วัดมเหยงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จารึกหลักที่ ๒๘ ที่วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช ซึ่งได้มาจากวัดเสมาชัย จารึกหลักที่ ๒๙ วัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช อีกทั้งยังมีจารึกที่พบในประเทศอินเดียและอินโดนีเซียอีกจำนวนหนึ่ง
 
     "ศรีวิชัย” ตั้งอยู่ที่ไหน ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน ในอดีตนักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า ศรีวิชัยมีศูนย์กลางอยู่ที่ปาเล็มบังในตอนใต้ของเกาะสุมาตรา แต่นักวิชาการอีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าอยู่ที่เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันเชื่อว่า ศรีวิชัยไม่ใช่ชื่ออาณาจักรที่มีศูนย์กลางของอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ที่เมืองหนึ่งเมืองใด ศรีวิชัยไม่มีศูนย์กลางที่แน่นอนและถาวร แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยความเข้มแข็งของผู้นำแต่ละท้องถิ่น ที่สามารถควบคุมอำนาจทางการเมืองและการค้า ดังนั้นศูนย์กลางของศรีวิชัยอาจจะอยู่ทั้งบริเวณหมู่เกาะ หรือบนคาบสมุทรมาเลย์
 
     "ศรีวิชัย” จึงเป็นชื่อกว้าง ๆ ทางศิลปะและวัฒนธรรม ร่องรอยอารยะธรรมของกลุ่มบ้านเมืองใหญ่น้อยที่มีวัฒนธรรมบางประการร่วมกัน เช่น นับถือพุทธศาสนามหายาน ที่แสดงออกด้วยรูปแบบทางศิลปกรรมที่เรียกกันว่า "ศิลปกรรมศรีวิชัย”
 
     >>> รอยอารยธรรม "ศรีวิชัย” ๒ เรื่องราวพร้อมภาพประกอบ คลิก  http://www.culture.go.th/culture_th/images/akasit/011064.pdf
    

ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒

ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)