กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “อีสป : นักเล่านิทานในตำนานคือใคร”

วันที่ 27 ก.ย. 2564
 

     "นิทานอีสป”  เป็นหนึ่งในนิทานที่เชื่อว่าเด็กๆ แทบทั่วมุมโลกต่างรู้จักกันดี ในฐานะนิทานที่มักเล่าเรื่อง ราวเกี่ยวกับสัตว์ และจบด้วยคำสอนที่เป็นคติเตือนใจ ซึ่งใช้ได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ นิทานเหล่านี้มาจากไหน ใครเป็นต้นกำเนิด เรามาเล่าสู่กันฟัง
 
     "อีสป” (Aesop) เป็นชื่อทาสชาวกรีกผู้หนึ่ง ซึ่งก็คือผู้ที่แต่งนิทานอีสปที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกตาม ที่เอ่ยมาข้างต้นนั่นเอง เนื่องจากเขาเกิดเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว คือราว ๖๒๐-๕๖๐ ปีก่อนคริสตกาลหรือก่อนพุทธกาลเล็กน้อย จึงไม่มีการบันทึกที่แน่ชัด ทำให้การเล่าประวัติของอีสปมีความแตกต่างกันไปบ้าง เช่น บ้านเกิดของเขา บ้างก็ว่าเป็นชาวเมืองเทรซ บ้างก็ว่าเป็นชาวเกาะซาโมส ประเทศกรีซ บ้างก็ว่าเขาเกิดที่เมืองฟรีเยีย ในดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่า เอเซียไมเนอร์ อันเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างทวีปเอเซียและยุโรปมาชนกัน ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากเป็นแหล่งรวมนักท่องเที่ยว เหล่าทูต และพ่อค้าวาณิชจากที่ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่มีการค้าทาสกันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น ซึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในทาสที่ว่านี้ โดยมีชื่อเรียกว่า "เอธิออป” (Ethiop) ซึ่งแปลว่า "ตัวดำ” แต่ชาวยุโรปเรียกเพี้ยนไปเป็น "อีสป” (Aesop) แต่บางแห่งก็ว่า "เอธิออป” เป็นคำภาษากรีกหมายถึง "เอธิโอเปีย” ทำให้หลายคนเชื่อว่า อีสปเป็นคนเอธิโอเปีย ซึ่งตรงนี้อาจจะสอดคล้องกับที่ "คามาริอุส” ผู้เขียนประวัติของอีสปได้กล่าวถึงหน้าตาของเขาว่า เป็นคนมีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ ปากแบะ จมูกบี้ ลิ้นคับปาก ผิวดำมืด มักพูดเสียงอยู่ในลำคอ ฟังไม่ค่อยได้ยิน ซึ่งชื่อของเขาคาดว่านายทาสอาจจะเรียกตามรูปลักษณ์และสีผิวของเขาในขณะนั้นเพื่อให้จดจำง่ายก็ได้ แต่บางแห่งก็ว่าเขาเป็นแคระบ้าง คนพิการบ้าง
 
     นายทาสคนแรกของอีสปชื่อ แซนทัส คนต่อมาคือ อิดมอน ซึ่งเจ้านายคนหลังนี้เองที่ได้มอบโอกาส ให้อีสป โดยให้เขาเป็นครูสอนหนังสือแก่ลูกๆของตน ซึ่งแปลกที่ว่าความรู้ของอีสปนี้ได้มาจากไหน มิได้มีเขียนไว้ แต่หากจะคาดเดา คงเป็นเพราะเขาเป็นคนที่มีสติปัญญาที่ต่างจากรูปร่างหน้าตา รู้จักสังเกต จดจำสิ่งต่างๆและสามารถถ่ายทอดได้ดี ดังนั้น อิดมอนนายของเขาจึงมักพาเขาไปไหนมาไหนด้วยเสมอ กอปรกับบ้านของอิดมอนเป็นที่พบปะสังสรรค์ของบุคคลสำคัญของกรีก ทำให้อีสปได้มีโอกาสพบเห็นและเรียนรู้จากบุคคลเหล่านี้ไม่น้อย ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มพูนความรู้ของเขาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และคงเป็นเพราะเขามีพรสวรรค์ในการผูกเรื่องต่างๆได้ดี จึงสามารถดัดแปลงเป็นนิทานที่มีเนื้อหาสนุกสนาน มีคติสอนใจ ทำให้เป็นติดใจไปทั่ว ดังนั้น เขาจึงได้รับเชิญจากบุคคลสำคัญให้ไปเป็นแขกเล่านิทานให้ผู้อื่นฟังอยู่เสมอๆ ซึ่งต่อมาอิดมอน เจ้านายที่แสนดีของเขาก็ได้ปล่อยให้เขาเป็นไทแก่ตัว
 
     เมื่อได้รับอิสรภาพ กล่าวกันว่าอีสปก็ได้แต่งนิทานต่างๆให้ผู้คนฟังมากมาย จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ต่อมาได้รับเชิญให้ไปทำงานในราชสำนักของกษัตริย์เครซุส กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลิเดียของเอเซียไมเนอร์ และเป็นผู้ที่ร่ำรวยมาก ซึ่งในขณะนั้น แม้ว่าในราชสำนักจะมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้รอบรู้อยู่แล้วหลายท่าน แต่อิสปก็ยังได้รับความโปรดปรานเป็นอันมาก กล่าวกันว่ากษัตริย์เครซุสได้ทรงเรียนรู้ความจริงหลายอย่างเกี่ยวกับบ้านเมือง ด้วยการฟังนิทานของอีสปมากกว่าการสนทนากับเหล่านักปราชญ์ประจำราชสำนักของพระองค์เสียอีก ซึ่งคงเพราะนิทานของอีสปมักใช้สัตว์เป็นตัวดำเนินเรื่อง จึงแปลก แต่ฟังง่ายและมีความสนุกสนาน ขณะเดียวกันก็ให้แง่คิดด้านต่างๆเบ็ดเสร็จภายในตัว ทำให้ฟังได้เรื่อยๆ ไม่น่าเบื่อเหมือนคำพูดของปราชญ์ของพระองค์ก็เป็นได้
 
     สาเหตุหนึ่งที่ตัวละครในนิทานของอีสป ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์นั้น ก็เพราะว่าในสมัยนั้น การอบรมสั่งสอนคนให้มีความเชื่อหรือแนวคิดใด ถือว่าเป็นงานของนักปราชญ์หรือทางศาสนา หากผู้ใดตั้งตนเป็นผู้นำความคิดจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อมดแม่มด มีโทษถึงตาย ทำให้อีสปต้องหลีกเลี่ยงการสอนให้คนทำความดีแบบตรงๆ มาใช้สัตว์ต่างๆเป็นสัญลักษณ์แทน โดยทำเหมือนเป็นการเล่าเรื่องเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลินมากกว่าการสั่งสอน เช่น ใช้หมาจิ้งจอก แทน คนเจ้าเล่ห์ ราชสีห์ แทนผู้มีอำนาจ หนู แทนคนต่ำต้อย เป็นต้น ซึ่งสัตว์แต่ละตัวเขาจะนำมาใช้ให้เข้ากับเรื่องที่ต้องการจะสื่อและสอนคน บางคนบอกว่า นิทานของอีสปได้เค้าโครงเรื่องมาจากเรื่องเล่าเก่าๆของอินเดียบ้าง ของเปอร์เซียบ้าง ของกรีกบ้าง หรือดินแดนอื่นๆบ้าง แล้วนำมาปรับเล่าใหม่ โดยนิทานของเขาทั้งหมดจะเป็นการเล่าปากเปล่า ไม่มีการจดบันทึกเป็นหลักฐาน จนศตวรรษต่อๆมาจึงได้มีผู้เริ่มบันทึกไว้ เช่น บางแห่งบอกว่าฟีดรัส ทาสชาวมาซีโดเนียน ในยุคจักรพรรดิออกุสตุส เป็นหนึ่งในผู้รวบรวมนิทานอีสปเป็นภาษาลาตินไว้ บางแห่งบอกว่าเดมิตริอุส ชาวกรีกเป็นผู้รวบรวมนิทานอีสป โดยเขียนเป็นหนังสือไว้เมื่อราว ๓๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ต่อมามีผู้เขียนขึ้นใหม่อีกหลายคน จนมีพระที่ชื่อมาซิมุล พลานูด ได้แปลนิทานอีสปจากภาษาลาตินเป็นภาษา อังกฤษเมื่อ ค.ศ. ๑๔๐๐ นับแต่นั้นมา ก็มีชาวยุโรปได้แปลนิทานอีสปออกเป็นหลายชาติหลายภาษาโดยประยุกต์ให้เข้ากับสภาพบ้านเมืองและสังคมของตน แต่ข้อคิด คติสอนใจ อันเป็นหัวใจหลักยังคงได้รับการรักษาไว้
 
     ในช่วงสุดท้ายของชีวิตอีสป มีการบอกเล่าต่างกันหลายแบบ เช่น บางแห่งบอกว่า การที่กษัตริย์เครซุสส่งเขาไปทำหน้าที่ราชทูตที่เมืองเดลฟิ แล้วอีสปได้เล่านิทานโดยใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์บอกความจริงเกี่ยวกับความ อยุติธรรมทางการเมืองให้ชาวเมืองได้รับรู้ ได้กลายเป็นชนวนก่อเหตุให้นักการเมืองของเดลฟิโกรธแค้นเป็นอย่างมาก จึงคิดกำจัดเขา โดยแอบเอาขันทองศักดิ์สิทธิ์แห่งวิหารเทพอะพอลโลไปใส่ในสัมภาระของเขา และกล่าวหาว่าเขาเป็นขโมย ทำให้เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำการลบหลู่ชาวเดลฟิอย่างร้ายแรง จึงถูกตัดสินให้โยนเขาลงจากหน้าผาสูงจนถึงแก่ความตาย บางแห่งก็ว่ากษัตริย์เครซุสส่งเขาไปเมืองเดลฟิ เพื่อไปแจกจ่ายทองคำให้แก่ประชาชน แต่เกิดเหตุวุ่นวายแย่งชิงกัน เลยถูกฆ่าตาย แต่บ้างก็ว่าเขาเห็นประชาชนโลภมาก เลยเปลี่ยนใจจะนำทองคำกลับคืนราชสำนัก แต่ชาวเมืองไม่ยอม เกิดความแค้นเคืองเขา หาว่าเขาไม่ซื่อสัตย์ ก็เลยจับเขามาสำเร็จโทษ โดยไม่สนใจว่าเขามีฐานะเป็นราชทูตจากกษัตริย์เครซุส แม้ว่าสาเหตุการตายของเขาจะไม่แน่ชัด แต่ชื่อเสียงของเขากลับไม่ได้ตายไปพร้อมตัว เพราะเขาได้กลายเป็นนักเล่านิทานในระดับตำนาน ที่มีคนรู้จักไปทั่วโลก แม้เขาจะเคยมีฐานะเป็นทาส แต่นิทานของเขากลับมีอิสระและถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง จน "ลีซิฟัส” ชาวเอเธนส์ผู้หนึ่งได้ปั้นรูปของเขาตั้งไว้ข้างหน้าของอนุสาวรีย์ยอดนักปราชญ์ของชาวเอเธนส์ ซึ่งถือได้ว่าอีสปได้รับการยกย่องเทียบเท่ายอดนักปราชญ์ผู้โด่งดังของยุคนั้นเลยทีเดียว
 
     สำหรับประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านิทานอีสปเข้ามาเมื่อใด มีเพียงการสันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามาช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บ้างก็ว่าถูกนำมาเผยแพร่ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ และแต่ที่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าพระองค์ทรงแปลนิทานจากภาษาอังกฤษเป็นไทย และทรงตั้งชื่อว่า "อีสปปกรฌัม” โดยแปลไว้ ๒๕ เรื่อง ต่อมาสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงแนะให้มหาอำมาตย์โท พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร) แปลนิทานอีสปเพิ่มเติม พร้อมให้แต่งเรียบเรียงใหม่ด้วยประโยคที่สั้น และเข้าใจง่าย เพื่อใช้เป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับเด็กชั้นมูลศึกษาหรือประถมศึกษา
 
     ตัวอย่างของนิทานอีสปที่รู้จักกันดี เช่น กบเลือกนาย ชาวนากับงูเห่า เด็กเลี้ยงแกะ หมาป่ากับลูกแกะ หนูเมืองกับหนูชนบท ราชสีห์กับหนู สุนัขกับเงา มดกับตั๊กแตน แม่ปูกับลูกปู และอึ่งอ่างกับวัว เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างที่ยกมานี้ เชื่อว่าหลายคนคงได้เรียนหรือได้ฟังได้อ่านมาบ้างแล้ว อย่าง เด็กเลี้ยงแกะที่สอนให้รู้ถึงโทษของการโกหก ทำให้ขาดความเชื่อถือ หรืออึ่งอ่างกับวัว ที่สอนให้เราอย่าทำสิ่งใดที่เกินตัว จนนำเภทภัยมาสู่ตนเอง
 
........................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : lluisribesmateu1969 (flickr.com)
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)