กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “มังกร : สัตว์เทพหรือปีศาจ”

วันที่ 23 ส.ค. 2564
 

 
      "มังกร” แม้จะเป็นสัตว์ที่ไม่มีอยู่จริง แต่ก็เป็น "สัตว์วิเศษ” ที่อยู่ในตำนาน ความเชื่อ และปรากฏ ให้เห็นในรูปแบบวรรณกรรม และศิลปกรรมต่างๆอยู่เสมอ โดยเฉพาะในหนังและละครหลายต่อหลายเรื่อง เพียงแต่ว่าถ้าเป็นจีน จะถือว่า "มังกร” เป็นสัตว์เทพ ส่วนทางยุโรปจะเห็น
 
      "มังกร” เป็นเสมือนปีศาจ โดยลักษณะของมังกรก็จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นเช่นไร เรามาเล่าสู่กันฟัง "มังกรยุโรป” ในความเชื่อของชาวยุโรปสมัยกลาง คือ ศัตรูของมนุษย์ เพราะมันชอบมาทำลายบ้านเมืองและแย่งชิงสมบัติ จึงถูกมองเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายหรือปีศาจ ในตำนานพื้นบ้านของยุโรป มังกรมักจะเป็นสัตว์ที่เฝ้าทรัพย์สมบัติด้วยความหวงแหน และชอบจับเอาเจ้าหญิงไปขังไว้ในยอดปราสาท จนอัศวินซึ่งเป็นเสมือนวีรบุรุษต้องตามไปช่วยและฆ่ามังกรนั้นเสีย อย่างไรก็ดี แม้จะถูกมองว่าเป็นสัตว์ร้าย กระนั้นมังกรยุโรป กลับถูกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของตระกูลขุนนางหรืออัศวิน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะตัวมันเองก็แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง และอำนาจในขณะเดียวกัน แม้จะบอกว่ามังกรที่คอยช่วยเหลือมนุษย์ก็มี แต่ก็มีเพียงส่วนน้อย
 
     สำหรับมังกรยุโรปหากจะแบ่งตามลักษณะที่อยู่อาศัยจะแบ่งได้ ๒ พวก คือ
 
     -มังกรยุโรปเหนือ จะมีขนาดใหญ่ ปีกคล้ายค้างคาว มี ๔ ขา มีเกล็ด มีเขา มีหางยาว ส่วนใหญ่จะพ่นไฟได้ พบได้ในแถบเหนือของเยอรมัน สแกนดิเนเวีย และหมู่เกาะทางแอตแลนติกเหนือ
 
      -มังกรยุโรปตะวันตกหรือมังกรอ๊อกซิเดนทัล (Occidental) จะมีหลายสายพันธุ์มาก และก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน มีขาใหญ่หนา ๔ ขา มีกรงเล็บแหลมคม มีทั้งแบบมีเกล็ดและไม่มีเกล็ด มีหางเหมือนงู ปลายหางมักเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายหอก อาจมีปีกหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีปีกก็จะเป็นพังผืดคล้ายค้างค้าว บางพันธุ์ก็มีหงอน หรือไม่ก็เป็นกิ่งแบบเขากวาง บางพันธุ์สามารถพ่นไฟได้ มักพบในฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลีและสเปน
 
     ได้มีการกล่าวถึงสายพันธุ์มังกรที่โดดเด่นและพบได้บ่อยในหนังและเกม ๓ สายพันธุ์ ได้แก่ แดรกอัคนี (Firedrake) เป็นมังกร ๔ ขา อาจมีปีกหรือไม่มีก็ได้ พ่นไฟได้ ตัวคล้ายงู หนังติดกระดูก มีหางเหมือนแส้ เป็นมังกรที่เราคุ้นเคยที่สุด มักเรียกกันว่า มังกรยุโรป อีกตัวคือไวเวิร์น (Wyvern) ลักษณะเด่นคือ มีปีก มีเพียงสองขา มีหางปลายแหลมคล้ายหัวลูกศร ไม่สามารถพ่นไฟ แต่มีฤทธานุภาพไม่แพ้มังกรสายพันธุ์อื่น และเวิร์ม (Worm) มีลำตัวยาว ไม่มีขา อาจมีปีกหรือไม่มี ลักษณะคล้ายงูยักษ์ สามารถพ่นไฟหรือพิษออกมาได้ บางแห่งว่ามีหัวคล้ายม้าหรือจระเข้
 
     มาทางด้านจีนบ้าง ตามความเชื่อของจีนโบราณ จะมีสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ ๔ ชนิดคือ กิเลน หงส์ เต่าและมังกร โดยชาวจีนจะถือว่า มังกรเป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นสัตว์เทพเจ้าซึ่งคนเคารพนับถือ และสิ่งที่โดดเด่นเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปของ "มังกรจีน” คือ การเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจักรพรรดิและวัฒนธรรมจีน ลักษณะของมังกรจะมาจากสัตว์หลายชนิดผสมผสานกัน กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหมือนงู มีเขี้ยวขนาดใหญ่หนึ่งคู่อยู่ที่บริเวณขากรรไกรด้านบน มีหนวดยาวคล้ายไม้เลื้อย มีแผงคอเหมือนสิงโตอยู่ที่คอ คาง และข้อศอก มีเกล็ดคล้ายเกล็ดปลาทั่วลำตัวจำนวน ๑๑๗ เกล็ด มีเขาทอดยาวไปตามหลังของมัน และมีหางเป็นหนามสั้น-ยาวสลับกันไป มี ๔ ขา ซึ่งมีกรงเล็บที่แข็งแรงมาก ไม่มีปีก แต่สามารถบินหรือเหาะไปในอากาศได้ เกล็ดของมังกรจะมีลักษณะเฉพาะเปลี่ยนไปตามแต่ละชนิดของมัน มีตั้งแต่สีเขียวเข้มไปจนถึงสีทอง บางแห่งก็ว่ามังกรจีนมีหลายสี เช่น แดง เหลือง น้ำเงิน เขียว และดำ เป็นต้น คุณสมบัติพิเศษอีกอย่าง คือ สามารถบันดาลให้เกิดลมและฝนได้ ชาวจีนเรียกมังกรว่า "เล้ง-เล่ง-หลง-หลุง” ทั้งนี้ สุดแต่ความแตกต่างในการออกเสียงของแต่ละท้องถิ่น และถือว่า "มังกร” เป็นสัญลักษณะของพลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ และเพศชายหรือหยาง
 
     มังกรมีวงจรชีวิตการเกิดนานถึง ๔,๐๐๐ ปี จึงจะกลายเป็นมังกรโตเต็มวัย โดยเริ่มแรกจะเป็นไข่อยู่นานถึง ๑,๐๐๐ ปี จึงจะฟักเป็นตัว จากนั้นใช้เวลาอีก ๕๐๐ ปีจึงจะค่อยๆโตเป็นลูกมังกรที่มีเกล็ด ต่อมาอีก ๑,๐๐๐ ปี จึงมีหนวดเครา รยางค์ และเกล็ดที่เพิ่มขึ้น และอีก ๕๐๐ ปีในการงอกเขา รวมทั้งเริ่มได้ยินเสียง แล้วใช้เวลาอีก ๑,๐๐๐ ปีจากนั้นในการเจริญเติบโตเต็มที่ทุกส่วน ตามคติความเชื่อของจีนอาจแบ่งชนิดของมังกรได้เป็น ๙ ชนิดบ้าง ๓ ชนิดบ้างแล้วแต่ตำรา โดยตำราที่แบ่งเป็น ๓ ชนิด จะได้แก่ ๑.ชิวเล้ง (หลง) เป็นมังกรขนาดใหญ่ มีเขา มีอำนาจและเป็นใหญ่เหนือมังกรทั้งปวง อาศัยอยู่บนสวรรค์ ๒.มังกรหลี่ (ลี่) เป็นมังกรไม่มีเขา อาศัยอยู่ในมหาสมุทร และ ๓.มังกรเจี่ยว (เฉียว) เป็นมังกรมีเกล็ด ไม่มีเขา ตัวเล็กกว่าชิวเล้ง อาศัยอยู่ตามลุ่มหนอง ถ้ำหรือภูเขา พูดง่ายๆว่า หลง คือมังกรแห่งสวรรค์ หลี่ คือ มังกรแห่งท้องทะเล และเจี่ยว เป็นมังกรแห่งภูเขาและที่ลุ่ม
 
      การใช้มังกรเป็นลวดลายประดับบนเสื้อ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสูงต่ำของตำแหน่ง สามารถแบ่งได้ดังนี้ มังกร ๕ เล็บ ถือเป็นมังกรหลวงใช้เฉพาะพระจักรพรรดิ องค์ชายลำดับ ๑ และ ๒ เท่านั้น ส่วนมังกร ๔ เล็บเป็นมังกรทั่วไปใช้กับองค์ชายลำดับที่ ๓ ,๔ และ ๕ เป็นต้นไป ส่วนข้าราชการชั้นธรรมดาใช้รูปคล้ายงูมี ๕ เล็บได้ บางตำราก็ว่าเป็นมังกร ๓ เล็บ ส่วนสีของเสื้อที่มีลายมังกรจะมีอยู่ ๓ สี คือ สีเหลืองใช้เฉพาะจักพรรดิและพระมเหสี สีแดงใช้ในงานพระราชพิธีที่มีความหมายถึงความสุข ส่วนสีน้ำเงินหมายถึงราชสมบัติและประเทศ
 
     แม้ "มังกร” ของจีนและยุโรปจะมีความหมายตรงกันข้าม แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เชื่อว่า "มังกร” เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ความมีอำนาจ และพลังที่เหนือกว่าเช่นเดียวกัน ดังนั้น เรื่องราวและอิทธิฤทธิ์ของมังกรจึงยังปรากฏอย่างต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้
 
.............................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)