
แดนดินถิ่นใต้หนึ่งในภูมิภาคสำคัญของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ถึง ๑๔ จังหวัด มีประวัติศาสตร์เล่าขานความเป็นมานานนับพันปี ดังปรากฏมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายสะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
มรดกวัฒนธรรมที่หลากหลายล้วนเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของบรรพชนและได้รับการสืบทอดกันมาอย่างเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ งานศิลปหัตถกรรม ส่วนมรดกที่เป็นนามธรรมได้แก่ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม ที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่องหลายชั่วคน
สิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าใจถึงมรดกวัฒนธรรมของภาคใต้ คือ เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผู้คนและบ้านเมือง อันสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์และลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้ที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ผืนแผ่นดินภาคใต้ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าระหว่างตะวันออกกับตะวันตก มีชายฝั่งขนาบทั้งสองข้างมีเทือกเขาสูงอยู่ตรงกลาง มีที่ราบแนวแคบ ๆ แถบชายฝั่งทะเลและสองฝั่งลำน้ำ ผู้คนนิยมตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน
จากลักษณะภูมิศาสตร์ของภาคใต้ ส่งผลให้ผู้คนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมเดินทางเข้ามาในดินแดนแห่งนี้อย่างไม่ขาดสายเป็นเวลายาวนานหลายระลอก ไม่ต่างจากคลื่นลมของสองฝั่งทะเล ทั้งชาวพุทธ มุสลิมและชนต่างเชื้อชาติต่างเผ่าพันธุ์ เช่น คนไทย จีน คนเชื้อสายมาเลย์ รวมทั้งชาวพื้นเมือง วัฒนธรรมภาคใต้จึงมีรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ นอกจากจะมีภูมิประเทศและสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามแล้วยังมีวัฒนธรรมอันหลากหลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ..
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๒