
โนรา หรือ มโนราห์ ศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้มาช้านาน เป็นการแสดงที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ฉพาะถิ่น มีดนตรีเป็นลูกคู่ เล่นรับ-ส่งตลอดการแสดง โดยผู้รำโนราจะสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี สวมปีกหางคล้ายนก เทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวที่ทำด้วยโลหะ การแสดงโนราเป็นที่นิยมและถือปฏิบัติแพร่หลายในชุมชนรอบๆทะเลสาบสงขลา และยังได้รับความนิยมไปตลอดสองฟากฝั่งของคาบสมุทรอินโดจีน ทางตอนเหนือมีคณะโนราแสดงขึ้นไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนทางตอนใต้มีคณะโนราสองภาษา ที่ยังคงแสดงอยู่ในเขตสามจังหวัดภาคใต้และมีการแสดงของชุมชนไทย ในรัฐตอนเหนือของสหพันธรัฐมาเลเซีย ได้แก่ กลันตัน เกดาห์ ปะลิส และปีนัง
สำหรับตำนานความเชื่อเกี่ยวกับที่มาของโนราภาคใต้นั้น มีอยู่หลายกระแสหลายสำนักแล้วแต่ว่าจะเลือกฟัง แต่พอสรุปสาระสำคัญที่คล้ายคลึงถึงที่มาของความเชื่อเรื่องโนราว่า ณ เวียงบางแก้ว (ปัจจุบันคือจังหวัดพัทลุง) มีเจ้าเมืองพระนามว่าพระยาสายฟ้าฟาดและมีพระมเหสีนามว่านางศรีมาลา มีพระราชธิดานามว่านางนวลทองสำลีซึ่งเป็นธิดาที่โปรดปรานของบิดาเป็นอย่างมาก คืนหนึ่งนางฝันว่าเห็นกินนรมาร่ายร่ำให้ชมลีลาท่ารำของกินรงดงามน่าอัศจรรย์มาก และนางก็ได้จดจำท่ารำสิบสองท่าไว้ ขณะร่ายรำมีเสียงดนตรีบรรเลงด้วย เมื่อตื่นขึ้นมานางจึงร่ายรำตามลีลาและท่าทางตามความฝัน แต่อยู่มาวันหนึ่งนางเกิดตั้งท้องขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ ในตำนานเล่าว่านางกินเกสรดอกบัวในสระแก้วแล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา แต่บางตำนานเชื่อว่านางได้สมสู่กับพวกนักรำละครด้วยกัน คือ พระม่วงทอง แล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาความทราบถึงพระยาสายฟ้าฟาด ทรงพิโรธจนเนรเทศนางพร้อมบริวารให้ลอยแพออกไปจากเมือง แพของนางนวลทองสำลีลอยไปในทะเลสาบใหญ่และไปติดที่เกาะกะชัง (ในทะเลสาบสงขลา) ซึ่งที่นั้นนางได้ให้กำเนิดพระโอรสและตั้งชื่อว่าเทพสิงหลและสอนให้พระโอรสนั้นร่ายรำลีลาท่ากินนรตามที่ฝันไว้ เมื่อเจริญวัยพระโอรสก็ได้แอบหนีออกมาร่ายรำในเมือง เมื่อพระยาสายฟ้าฟาดพบเห็นการร่ายรำของเด็กน้อยจึงได้สั่งให้เข้าวังเพื่อมารำถวายให้ชมต่อหน้าพระพักตร์ เมื่อพระยาสายฟ้าฟาดได้ชมการร่ายรำของเด็กน้อยที่อ่อนช้อยงดงาม อีกทั้งหน้าตาก็คล้ายคลึงกับพระราชธิดาคือนางนวลทองสำลีซึ่งตนเองเคยเนรเทศไปจากเมืองก็รู้สึกเอ็นดู ต่อมาจึงได้รู้ว่าเด็กน้อยที่ร่ายรำได้อย่างงดงามนั้นเป็นหลานตา พระยาสายฟ้าฟาดจึงได้มอบเครื่องต้นอันเป็นอาภรณ์แห่งกษัตริย์ขัตติยราช ประกอบด้วย เทริด คือ เครื่องสวมศรีษะทรงสูง ทับทรวง ประจำยาม ปีกนกแอ่น (ใช้ร้อยเข้ากับสร้อยสังวาลย์) ปั้นเหน่ง และกำไรต้นแขนและปลายแขนอย่างละคู่ และต่อมาแต่งตั้งให้เป็นขุนศรีศรัทธา เพื่อทำหน้าที่เป็นศิลปินผู้ดูแลเรื่องการร่ายรำของราชอาณาจักรเวียงบางแก้ว ขุนศรีศรัทธา ถือเป็นบรมครูโนราผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวโนรานับถือสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ที่มา : หนังสือ โนราศิลปะการร้องรำที่ผูกพันกับชีวิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, https://sites.google.com/site/psysicstam/prawati-khwam-pen-ma-khxng-mno-ra , https://bit.ly/3C4L3Ec