จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน วันพืชมงคล เป็นวันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่าแก่มาแต่โบราณ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ และพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี ๒ พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืช-มงคล เป็นพิธีทางศาสนาพุทธ และ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ พระราชพิธีพืชมงคลนั้น จะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับพระ-ราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลสนามหลวง
ครั้งสมัยสุโขทัยพระมหากษัตริย์จะเสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีทุกครั้ง ครั้นถึงสมัยกรุง-ศรีอยุธยาพระมหากษัตริย์ทรงกระทำเหมือนสมัยสุโขทัย แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำและทรงจำศีลอย่างเงียบๆ เป็นเวลา ๓ วัน พอถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี พระราชพิธีพืชมงคลจึงได้มีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญและกำหนดให้เป็นวันสำคัญของชาติ
พระราชพิธีพืชมงคล เมื่อครั้นอดีตจะมีการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎทรงกำหนดให้ มีขึ้นเป็นครั้ง แรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวฟ้าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์
ส่วน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ มีมาตั้งแต่โบราณ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว พระราชพิธีทั้งสองนี้ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อยๆ
สำหรับพระราชพิธีในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเป็นประธานในพิธีโดยผู้ที่ทำหน้าที่ที่สำคัญในการประกอบพิธีคือ พระยาแรกนาและเทพีคู่หาบเงินและหาบทอง ซึ่งจะทำหน้าที่หาบเมล็ดพันธุ์ข้าวให้พระยาแรกนาหว่านในแปลงนาที่ท้องสนามหลวง โดยการเลือกเทพีคู่จะคัดเลือกจากข้าราชการหญิงระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี มีบุคลิกที่งามสง่าและน่าเชื่อถือ คุณสมบัติอีกหนึ่งข้อคือ ต้องเป็นสาวโสดและจะต้องเป็นคนที่ทุกคนเห็นชอบและยอมรับ จากการคัดเลือกอีกด้วย
และการประกอบพิธีพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อเกษตรกรไทย จึงจำเป็นต้องมี พระโค ประกอบในพระราชพิธีนี้ พระโคที่จะนำมาใช้ในพิธี จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า ๑๒๐ เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก ไม่น้อยกว่า ๑๘๐ เซนติเมตรโคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวยขนเป็นมันกิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใสหูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง ลักษณะที่ดี กีบข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม
ซึ่งในพระราชพิธีสำคัญนี้ พระยาแรกนาจะทำการเสี่ยงทายผ้านุ่ง ในการประกอบพระราชพิธีโดยมีการพยากรณ์ผลการเสี่ยงทาย "ผ้านุ่งแต่งกาย” ผ้านุ่งซึ่งพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบ เป็นผ้าลายมี ๓ ผืน คือ ห้าคืบและสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตก มีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาหยิบได้ หากหยิบผืนใด จะมีคำทำนายไปตามนั้น พระโคที่ใช้ประกอบพระราชพิธี เมื่อเสร็จจากการไถนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเสี่ยงทายของกิน คือ "ของกิน ๗ สิ่ง” ที่ตั้งเลี้ยงพระโค ซึ่งประกอบด้วย ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดจะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ ถ้าพระโคกิน ข้าว หรือข้าวโพด พยากรณ์ว่าธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกิน ถั่ว หรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกิน น้ำ หรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหารมังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และ ถ้าพระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรื่อง
แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการคมนาคมขนส่ง และประเทศไทยยังเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวในระดับต้นของโลก แต่ขณะนี้เกษตรกรไทยกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตจากการขาดทุนและการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว อีกทั้งยังประสบกับปัญหาภัยแล้งจากธรรมชาติ และด้วยเหตุนี้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเกษตรกร เพราะจะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรที่จะเพาะปลูกพืชผลในฤดูกาลที่ใกล้จะถึงนี้ อีกทั้งเพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติอีกด้วย
เนื่องในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ซึ่งตรงกับ "วันพืชมงคล” กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงใคร่ขอเชิญชวนประชาชนคนไทย ร่วมช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรม พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันทรงคุณค่านี้ไว้แก่ เยาวชนคนรุ่นหลังและชาวต่างชาติได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของเกษตรกรไทย และสิ่งสำคัญที่สุดคือเพื่อให้เกษตรกรเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง และมีความตั้งใจประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป
บทความโดย นางสาวปานิสรา นาดี (นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)
กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
|