
วัดราชสิทธาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อ "วัดพลับ” เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ให้สร้างวัดขึ้นใหม่เพื่อพระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระอาจารย์สุก ที่ทรงนิมนต์มาจากวัดท่าหอย พระนครศรีอยุธยา ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้อยู่ติดกับวัดพลับเดิม เมื่อสร้างแล้วเสร็จทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมเป็นวัดเดียวกัน ครั้งสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บูรณะวัดพลับครั้งใหญ่ ทั้งอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระตำหนัก และสถาปนาพระเจดีย์องค์ใหม่ เมื่อแล้วเสร็จได้พระราชทานชื่อพระอารามใหม่ว่า "วัดราชสิทธาราม”
ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ทรงคุณค่ายิ่ง ต่อมาเกิดชำรุดทรุดโทรม ชั้นสีโป่งพอง ขาดการยึดเหนี่ยวกับผนัง ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้มีการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ พร้อมทั้งได้มีการเขียนเพิ่มเติมบางส่วนที่ชำรุดขึ้นใหม่
จิตรกรรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถมีลักษณะรูปแบบเทคนิคของจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ เส้นสินเทา มีลักษณะเป็นฟันปลา (เส้นแบ่งเรื่องราวเนื้อหาของภาพ) พื้นน้ำจะระบายสีเป็นพื้นแล้วตัดเส้นให้เป็นคลื่นและฟองน้ำ โครงสร้างของสีเป็นแบบพหุรงค์ คือใช้หลายสี แต่มีสีแดงเป็นสีที่เด่น เป็นจิตรกรรมที่เขียนเต็มพื้นที่ผนังอาคารทั้ง ๔ ด้าน แบ่งภาพออกเป็น ๓ กลุ่มได้ดังนี้
กลุ่มที่ ๑ ฝั่งผนังหุ้มกลอง(ทิศตะวันออก) ด้านตรงข้ามพระประธาน แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนแรกผนังระหว่างประตูทั้งสอง เขียนภาพพุทธประวัติตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ พระเจ้าอโศกทดลองฤทธิพระอุปคุต พญาสวัตตีมารถูกพระอุปคุตทรมาน และชุมนุมพระธาตุ ส่วนที่ ๒ บริเวณผนังด้านบนเหนือกรอบประตูขึ้นไป เขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ และภาพไตรภูมิ
กลุ่มที่ ๒ จิตรกรรมบนผนังหุ้มกลองด้านหลังพระประธาน เป็นฝั่งทิศตะวันตก ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ผนังระหว่างประตูสองข้างเขียนเรื่องนรกขุมต่างๆ แสดงให้เห็นถึงสัตว์นรกถูกทรมานด้วยวิธีต่างๆ กัน และส่วนบริเวณผนังเหนือกรอบประตูขึ้นไป เขียนเรื่องตอนเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเรื่องไตรภูมิ
และกลุ่มที่ ๓ ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังด้านข้างพระประธานทั้งสองด้าน ฝั่งทิศใต้ส่วนล่างของผนังระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพชาดกเรื่องเวสสันดรชาดก ด้านทิศเหนือเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ส่วนบริเวณผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปทั้งสองด้านเขียนภาพเทพชุมนุมเรียงซ้อนกัน ๔ ชั้น
คุณค่าและความสำคัญ
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดราชสิทธารามนี้ เป็นงานช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูศิลปะแบบไทยประเพณีแต่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา จึงมีรูปแบบลักษณะคล้ายกับศิลปะอยุธยาตอนปลาย ทั้งคติ เทคนิคการจัดวางภาพเล่าเรื่องและการใช้สี โดยเทคนิคการเขียนภาพเริ่มมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น ถือเป็นลักษณะหนึ่งของศิลปะสกุลช่างรัตนโกสินทร์
นานวันเข้าจิตรกรรมฝาผนังมรดกภูมิปัญญาทางศิลปะจากบรรพชนชิ้นสำคัญนี้ ได้รับความเสียหายอย่างมากจากความชื้น ทำให้ภาพเปื่อยยุ่ย พองและหลุดลอก จึงได้มีการบูรณะภาพจิตรกรรมใหม่ ด้วยการซ่อมแซมและเขียนเติมในส่วนที่หายไป ส่งผลให้จิตรกรรมระหว่างหน้าต่างที่วาดในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เหลือเพียงหนึ่งในสามจากของเดิม..
เนื้อหาเพิ่มเติม >>> จิตรกรรมฝาผนังวัดราชสิทธารามพร้อมภาพประกอบ http://www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/300764b.pdf
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกภูมิปัญญา จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ (วัดราชสิทธาราม วัดสุวรรณาราม และวัดทองธรรมชาติ) มิถุนายน ๒๕๖๓