ผ้าขิด หรือ ผ้าทอลายขิด เป็นผ้าพื้นเมืองของภาคอีสาน และบางส่วนของภาคเหนือและภาคกลางของไทย คำว่า ขิด เป็นภาษาพื้นบ้านอีสาน มาจากคำว่า สะกด หมายถึง การจัดขั้นซ้อนขั้น สะกดขึ้นหรืออาจมาจากคำว่า สะกิด หรืออาจหมายถึง ขจิต ซึ่งเป็นภาษาบาลี ซึ่งหมายความว่า วิจิตร เพราะการทอผ้าขิด ต้องใช้กรรมวิธีที่ซับซ้อน ละเอียด และประณีตเพื่อให้เกิดลวดลายที่สวยงามวิจิตร ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการอดทนเป็นหลักจึงจะสามารถทอเป็นผืนผ้าได้ ดังนั้น ผ้าขิดจึงหมายถึง ผ้าที่ทอโดยวิธีใช้ไม้เขี่ย หรือสะกิดช้อนเส้นด้ายยืนขึ้นแล้วสอดเส้นด้ายพุ่งไปตามแนวเส้นยืนที่ถูกงัดช้อนขึ้นนั้นจังหวะของการสอดเส้นพุ่งซึ่งถี่ห่างไม่เท่ากันให้เกิดลวดลายรูปแบบต่างๆ โดยวิธีการเก็บขิดเพื่อสร้างลวดลายในประเทศไทยมี ๓ วิธี คือ
๑. คัดไม้ขิดโดยไม่มีการเก็บตะกอ วิธีการเก็บขิดแบบนี้เหมาะสำหรับการทอลวดลายที่ไม่ซับซ้อนมาก และต้องการเปลี่ยนลวดลายบ่อย ๆ ไม้ขิดที่เก็บลวดลายจะเรียงกันไปตามลำดับบนเครือเส้นยืนซึ่งอยู่ด้านหลังฟืม
๒. เก็บขิดเป็นตะกอลอย การเก็บขิดวิธีนี้ ต้องผ่านการคัดไม้ขิดแบบแรกเสียก่อน เสร็จแล้วใช้ด้ายเก็บลายตามไม้ขิดที่คัดไว้ทุกเส้น เรียกว่า เก็บตะกอลอย วิธีนี้สะดวกกว่าวิธีแรกคือไม่ต้องเก็บ ขิดทุกครั้งในเวลาทอ แต่ใช้วิธียกตะกอลอยไล่ไปแต่ละไม้จนครบ วิธีการนี้ทำให้ทอลวดลายซ้ำ ๆ กันได้ โดยไม่ต้องเก็บลายใหม่ทุก ๆ ครั้งเหมือนวิธีแรก แต่ถ้ามีจำนวนตะกอมาก ๆ ก็ไม่เหมาะสมกับวิธีการนี้เช่นกัน
๓. เก็บตะกอแนวตั้ง การเก็บตะกอแนวตั้ง พัฒนาจากแบบการเก็บขิดดั้งเดิมให้ทอได้สะดวกรวดเร็วขึ้นสามารถทำลวดลายที่ซับซ้อนและมีจำนวนตะกอมากๆได้
สำหรับผ้าทอลายขิดของอีสานตามที่ได้ทอกันมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิมในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ สามารถแบ่งกลุ่มแม่ลายผ้าทอลายขิด ได้เป็น ๔ ประเภท คือ ขิดลายสัตว์ ขิดลายพันธุ์ไม้ ขิดลายสิ่งของเครื่องใช้ และขิดลายเบ็ดเตล็ด ส่วนประเภทของผ้าลายขิดที่ทอมี ๓ ประเภท ได้แก่ ๑.ผ้าลายขิดพื้นสีเดียว คือในผ้าผืนเดียวกันนั้นจะมีเพียงลายเดียว และสีเดียวตลอดทั้งผืน ๒.ผ้าลายขิดมีเชิง คือ ทอแบบประเภทที่ ๑ แล้วมาเพิ่มเชิงผ้าในผืนเดียวกันด้วยการทอลวดลายอื่นเข้าไป ส่วนมากจะเป็นสีเดียวกัน ๓.ผ้าขิด-หมี่ คือการทอผ้าลายขิดผสมกับผ้ามัดหมี่ทอสลับกันเป็นช่วงๆในผ้าผืนเดียวกันนั้น สีของผ้ามักจะเป็นสีเดียวกันแต่เล่นระดับของสีเข้ม-อ่อน สลับกันไปเป็นช่วงๆ บางทีมีสีอื่นๆ สลับลงไปด้วย แต่มักอยู่ในเฉดที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งชาวอีสานได้กำหนดการใช้ผ้าขิดลายต่างๆตามโอกาสที่เหมาะสม อาทิ ในงานบวช ใช้ลายขิดตะเภาหลงเกา และ ลายดอกจิก ในงานบุญ ใช้ลายขิดช้าง ในงานสงกรานต์ ใช้ลายขิดดอกจัน ไหว้ผู้ใหญ่ ใช้ลายขิดกาบแก้วใหญ่ และลายขิดดอกแก้ว ใช้ในครัวเรือน คือ ลายขิดแมงงอด ลายขิดงูเหลือม ลายขิดแมงเงา และลายขิดประแจบ่ไข ใช้ในห้องรับแขก คือ ลายขิดขอ เป็นต้น
การทอผ้าขิดนับว่าเป็นศิลปะพื้นบ้านที่สะท้อนให้เห็นภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรม และวิวัฒนาการท้องถิ่นเดิมของไทยที่มีมาแต่โบราณ ที่สื่อสารผ่านลายผ้าโดยการสร้างสรรค์ขึ้นเป็นลวดลายต่างๆซึ่งชาวอีสานถือว่าในกระบวนการทอผ้านั้น การทอผ้าขิดต้องอาศัยความชำนาญและชั้นเชิงทางฝีมือสูงกว่าการทอผ้าอย่างอื่น ๆ เพราะทอยากมากและมีเทคนิคการทอที่ซับซ้อนมากกว่าการทอผ้าธรรมดา เพราะต้องใช้ทั้งเวลา ความอดทน และความละเอียดลออ มีกรรมวิธีที่ยุ่งยากและผู้ทอต้องมีประสบการณ์และพรสวรรค์ในการทอ จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญเฉพาะท้องถิ่น อีกทั้งเป็นการสืบสานมรดกภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สืบทอดต่อๆกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าปัจจุบันอาจจะมีเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิตคิดค้นลวดลายผ้า เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์แต่ก็ยังคงต้องอนุรักษ์รากเหง้าที่บรรพบุรุษได้สืบสานมาจนเป็นเอกลัษณ์บนแผ่นดินที่ราบสูงนี้ ผ้าขิดสำหรับชาวอีสานถือเป็นผ้าชั้นสูง ที่นิยมนำมาเป็นของกำนัลให้ผู้ใหญ่ในการทอดกฐิน งานบุญ งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ ใช้ห่อคัมภีร์ใบลาน ใช้เป็นผ้าคลุมหัวนาคในงานบวช นอกจากนี้ผ้าขิดนิยมใช้ทำ หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูนอน ปูอาสนะ ผ้าล้อหัวช้าง ผ้าคลุมไหล่ ซึ่งมีทอกันทั่วไปในภาคอีสาน และบางจังหวัดในภาคเหนือและภาคกลาง เช่น อุทัยธานี สุพรรณบุรี ชัยนาท พิจิตร น่าน ในบางแห่งมีการทอขิดผสมจก เพื่อให้เกิดลวดลายและสีสันที่วิจิตรกว่าขิดธรรมดา ได้แก่ ผ้าขิดผสมจกจาก อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี สำหรับแหล่งทอผ้าขิดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของภาคอีสาน คือ จังหวัดอำนาจเจริญ และ จังหวัดยโสธร
...........................................................
ขอบคุณที่มา: www.dpu.ac.th/dpurdi/upload/public/9n7nyamlppoookgsg0.pdfZ,
sites.google.com/site/phumipayyabankhoklam/kar-thx-pha-khid,
หนังสือ ขิด จก ยก มุก มัดหมี่ เบิ่งซิ่นกินแซ่บ โดย ธนาคารกรุงเทพ
ภาพ : www.เที่ยวอีสาน.com