
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "นิมิต” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงลางบอกเหตุ เรื่องเกี่ยวกับโชคลาง หรือเรื่องเหลือเชื่อบางอย่าง แต่จริงๆแล้วคำๆนี้ มีความหมายถึง ๔ ประการด้วยกัน สุดแต่จะหมายถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนี้
๑.นิมิต หมายถึง เครื่องหมายบอกเขตแดน
๒.นิมิต หมายถึง เครื่องหมายในเวลาทำกรรมฐาน
๓.นิมิต หมายถึง เครื่องหมายบอกเหตุล่วงหน้า อาจจะเป็นด้านดีหรือไม่ดีก็ได้
๔.นิมิต หมายถึง อวัยวะสืบพันธุ์
สำหรับ "นิมิต” แรก นั้น หมายถึง วัตถุที่เป็นเครื่องหมายบอกเขตหรือแดนแห่งสีมา (เขตที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมต่างๆ) ซึ่งพระวินัยได้กำหนดให้ใช้ได้ ๘ อย่าง ได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำ แต่ที่นิยมมากที่สุดคือใช้ศิลา หรือหินที่มักสกัดให้มีลักษณะกลม ที่เรียกกันว่า "ลูกนิมิต” แต่ละสีมาจะใช้ ๙ ลูก เมื่อทำพิธีตามพระวินัยแล้วเสร็จก็จะฝังศิลานิมิตลงในดินแล้วสร้างซุ้มครอบไว้ข้างบน โดยมี "ใบเสมา” เป็นเครื่องหมายแทน
ส่วน "นิมิต” ที่สอง หมายถึง เครื่องหมายในเวลาทำกรรมฐาน ซึ่งก็คือ เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดจับเป็นอารมณ์แล้วพิจารณาจนติดตาติดใจ แบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่
-บริกรรมนิมิต คือ เครื่องหมายสำหรับกำหนดเป็นอารมณ์สำหรับการบริกรรม เช่น นิมิตของกสิณไฟ คือ เปลวไฟ นิมิตของอานาปานุสสติ คือ ลม เป็นต้น
-อุคหนิมิต คือ อารมณ์ที่เจนตาเจนใจ หลังจากที่ได้เพ่งพิจารณาบริกรรมนิมิต เช่น เพ่งกสิณแล้ว แม้จะหลับตาอยู่ก็ยังสามารถเห็นนิมิตนั้น
-ปฏิภาคนิมิต คือ เครื่องหมายหรืออารมณ์เทียบเคียง เกิดจากอุคหนิมิตที่เจนตาเจนใจจนใสบริสุทธิ์ แล้วสามารถย่อหรือขยายส่วนแห่งนิมิตนั้นได้ตามต้องการ
"นิมิต” ที่สาม อันหมายถึง เครื่องหมายบอกเหตุล่วงหน้า เป็นปรากฏการณ์ที่คนส่วนใหญ่แต่ก่อนเชื่อว่าผู้ประสบนิมิตนั้นจะประสบภัยหรือโชคลาภที่จะมีขึ้นข้างหน้า หรือไม่ก็เกิดแก่ญาติมิตรของผู้นั้น ซึ่งนิมิตดังกล่าวนี้จัดเป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง โดยจะปรากฏในลักษณะต่างๆ ดังนี้
-นิมิตที่เกิดในตัวคน เช่น นิมิตฝัน นิมิตเขม่นตามอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกาย อาทิ ขนลุก จาม ร้อนหรือหนาวอันมิใช่ตามฤดูกาล เป็นต้น
-นิมิตที่เกิดจากสัตว์ เช่น นิมิตจิ้งจกทัก ตุ๊กแกร้อง หนูกัดผ้า เป็นต้น
-นิมิตที่เกิดจากปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เช่น นิมิตฟ้าผ่า ต้นไม้ล้ม ท้องฟ้าสีต่างๆ เป็นต้น
-นิมิตที่เกิดจากภูตผี เช่น นิมิตผีมาปรากฏเป็นภาพหลอน นิมิตปรากฏด้วยกลิ่นซากศพ เป็นต้น
-นิมิตที่เกิดจากปรากฏการณ์ประหลาดต่างๆ เช่น นิมิตเกิดด้วยเสียงศัตราวุธกระทบกันเอง นิมิตหวีหักขณะหวีผม นิมิตเครื่องประดับขาดหลุดจากตัว เป็นต้น
และ "นิมิต” สุดท้าย หมายถึง อวัยวะสืบพันธุ์ เช่น อิตถีนิมิต หมายถึง อวัยวะเพศหญิง ปุริสนิมิต หมายถึง อวัยวะเพศชาย
ทั้งหมดคือความหมายของ "นิมิต” ในลักษณะคำนาม ส่วนอีกคำหนึ่งที่มาจากคำว่า "นิมิต” คือ คำว่า "เนรมิต หรือ นิรมิต” โดยคำว่า เนรมิต เป็นคำแผลงมาจาก "นิมิต” ในภาษาบาลี หรือ "นิรมิต” ในภาษาสันสกฤต ทั้งคำว่า เนรมิตหรือนิรมิต เป็นคำกริยา หมายถึง สร้าง บันดาลด้วยอำนาจฤทธิ์ หรืออภินิหารให้บังเกิดขึ้น หรือมีขึ้นโดยฉับพลัน
................................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม