
สำหรับการทอผ้าจกในประเทศไทย ปัจจุบันจะพบเห็นได้ในกลุ่มชนเผ่าไท ๔ กลุ่ม ได้แก่
๑. กลุ่มไท-ยวน หรือ เรียกว่า ชาวเหนือ นั้นเอง ซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยในหลายจังหวัด ตั้งแต่แพร่ขึ้นไป และไท-ยวนอพยพแถวอำเภอเมือง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
๒. กลุ่มไทย-พวน (ลาวพวน) ในหลายอำเภอของจังหวัดสุโขทัย
๓. กลุ่มไท-คั่ง ในบางท้องที่ของจังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท พิจิตร
๔. กลุ่มภูไท ในบางท้องที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร นครพนม
จังหวัดราชบุรีเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ชาวไท-ยวน ได้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือนจนเกิดเป็นชุมชนของชาวโยนกเชียงแสน หรือที่เรียกกันว่า "ไท-ยวน” ซึ่งอพยพมาจากเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน โดยเมื่อครั้งที่ยังอยู่เมืองเชียงแสนชาวบ้านจะนิยมทอผ้าจกที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไว้ใช้งานเอง และเมื่อได้มาตั้งหลักแหล่งที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ก็นำภูมิปัญญาการทอผ้าจก ของไท-ยวน ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานมาเผยแพร่ด้วย เมื่อได้ปลูกบ้านเรือนอาศัยสมบูรณ์แล้วก็ได้ทอผ้าด้วยวิธีจกเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเครื่องแต่งกาย มิได้มุ่งเน้นเพื่อจำหน่าย อาทิ ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าขาวม้า ย่ามจก กระเป๋าคาดเอวจก เป็นต้น เอกลักษณ์ของผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน จังหวัดราชบุรีนั้นมีความละเอียดอ่อนทั้งด้านการเลือกใช้สีสัน ซึ่งนิยมใช้สีแดงเป็นพื้น ทั้งแดงสดและแดงคร่ำ ด้วยเชื่อว่าสีแดงเป็นสีแห่งพลังและความสดใสนอกจากนี้ยังมีลวดลายที่ประณีตวิจิตรงดงาม โดยลวดลายดั้งเดิมที่ทำสืบทอดต่อกันมาก็เช่น ลายหักขอเหลียวลายดอกจัน และลายมะลิเลื้อย โดยผ้าจกไท-ยวน ของจังหวัดราชบุรีแบ่งออกเป็น ๓ สายตระกูลใหญ่ๆ ดังนี้
๑.ผ้าจกตระกูลคูบัว เป็นผ้าจกที่มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่น ลายดอกเซีย ลายหักนกคู่ ลายโก้งเกง ลายหน้าหมอน และลายนกคู่กินน้ำฮ่วมเต้า ผ้าจกตระกูลคูบัว จะพบมากในตำบลคูบัว ตำบลดอนตะโก อำเภอเมือง โดยในการจกจะใช้เส้นด้ายยืนสีดำ พุ่งดำ โดยไม่มีลายประกอบมากลาย พื้นผ้าเว้นพื้นต่ำไว้มากตามแบบของลวดลาย เพื่อจกให้เห็นลายผ้าชัดเจน ส่วนสีสันของเส้นใยที่ใช้ทอ จะใช้เส้นใยที่มีสีสันหลากหลาย อาทิ จะใช้พุ่งต่ำดำจกแดง แซมเหลืองหรือเขียว เป็นต้น โดยตีนซิ่นจะมีความกว้างประมาณ ๙-๑๕ นิ้ว
๒.ผ้าจกตระกูลหนองโพ-บางกะโด เป็นผ้าจกที่มีลวดลายขนาดและสีสันที่มีความใกล้เคียงกับจกตระกูลคูบัว เป็นผ้าจกที่ได้จากชุมชนไทยวน ในตำบลหนองโพ-บางกะโด อำเภอโพธาราม โดยผ้าจกตระกูลหนองโพ-บางกะโด จะมีความแตกต่างจากผ้าจกตระกูลคูบัวตรงที่ ชายของตีนซิ่น ซึ่งผ้าจกตระกูลหนองโพ-บางกะโด จะมีการเว้นพื้นที่ต่ำระหว่างลายซะเปา ถึงเล็บเหลืองไว้กว้างมากกว่าผ้าจกตระกูลคูบัว และผ้าจกตระกูลหนองโพ-บางกะโดจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับลายนกของผ้าไท-พวนในภาคเหนือ คือ ลักษณะของนกคู่กินฮ่วมเต้าของผ้าจกตระกูลหนองโพ-บางกะโด จะมีหางที่ยาวมากกว่าผ้าจกตระกูลคูบัว
๓.ผ้าจกตระกูลดอนแร่ เป็นผ้าจกที่มีลายที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่น ลายกาบ ลายกาบดอกแก้ว และลายนกคู่กินน้ำฮ่วมเต้า พบมาในชุมชนไท-ยวน ตำบลดอนแร่ ตำบลห้วยไผ่ ตำบลหนองปลาหมอและตำบลรางบัว โดยลักษณะของการจก จะประกอบด้วยความหลากหลายของลวดลาย และจะมีการจกลายแน่นเต็มผืนผ้า มีการเว้ยพื้นต่ำไว้น้อย ทำให้ลดความเด่นชัดของลายหลักลงไป โดยจะคงสีสันของเส้นใยเป็นสีแดงเป็นหลัก จะไม่นิยมใช้เส้นใยหลายสี และตีนจกจะมีความกว้างประมาณ ๑๔-๑๕ นิ้ว
การทอผ้าจกของชาวไท-ยวน ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตพื้นฐานของการดำรงชีวิต ศาสนา ความเชื่อ ซึ่งแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ปัจจุบันศิลปะการทอผ้าจกได้รับการสนับสนุนและสืบทอดโดยกลุ่มลูกหลานชาวนไท-ยวนเองซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง
.................................................................
ภาพ : Facebook : Rich Moon Collection ผ้าโบราณสะสม