
"พระอัญญาโกญฑัญญะ” เป็นพระสาวกองค์แรกของพระโคตมพุทธเจ้า และเป็นพราหมณ์เพียงหนึ่งเดียวที่กล้าฟันธงทำนายว่า "เจ้าชายสิทธัตถะ” จะออกบวชและได้เป็นศาสดาเอกของโลก ท่านผู้นี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เรามาเล่าสู่กันฟัง
"พระอัญญาโกณฑัญญะ” มีชื่อเดิมว่า "โกณฑัญญะ” เป็นบุตรตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในหมู่บ้านโฑณวัตถุ ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ จบการศึกษาด้านไตรเพทในคัมภีร์พราหมณ์ และมีความเชี่ยวชาญในการทำนายลักษณะเป็นพิเศษ ดังนั้น เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน และพระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาคัดเลือกให้เหลือเพียง ๘ คน เพื่อทำนายพระลักษณะพระโอรสตามราชประเพณี โกณฑัญญะก็ได้เป็น ๑ ใน ๘ ที่ได้รับการคัดเลือกนี้ด้วย และเพราะอายุน้อยที่สุด ท่านจึงเป็นคนสุดท้ายที่จะได้ทำนาย โดยพราหมณ์ทั้ง ๗ คน เมื่อได้พิจารณาพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะอย่างละเอียดแล้ว ก็เห็นว่าต้องตามตำรามหาบุรุษลักษณะและพยากรณ์ศาสตร์ทุกประการ ต่างจึงทำนายเป็น ๒ นัยเหมือนกันคือ หากพระราชกุมารอยู่ในเพศฆราวาสจะได้เป็นถึงพระเจ้าจักรพรรดิ์ ได้ชัยชนะไปทั่วปฐพี แต่ถ้าออกบวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกของโลก ครั้นถึงคราวพราหมณ์โกณฑัญญะเป็นผู้ทำนาย ท่านกลับยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยวว่า พระราชกุมารที่บริบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะอย่างนี้ จะออกบรรพชาและจักสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน
ครั้นล่วงเลยเวลามาอีก ๒๙ ปี เมื่อโกณฑัญญะพราหมณ์ได้ทราบข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะตัดสินใจเสด็จออกบวช ก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ไปชักชวนลูกชายของพราหณ์ทั้ง ๗ คน ที่เคยร่วมทำนายด้วยกันให้ออกบวชตาม ที่ชวนแต่ลูกชาย ก็เพราะพราหมณ์รุ่นพ่อนั้นเสียชีวิตกันไปแล้ว ซึ่งบุตรพราหมณ์ที่ยอมออกบวชตามมีเพียง ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เมื่อรวมกับตนเองเป็น ๕ คน จึงเรียกกลุ่มตนเองว่า "ปัจจวัคคีย์” แล้วออกติดตามไปหาเจ้าชายสิทธัตถะที่ออกบรรพชา จนไปเจอพระองค์ที่กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม จึงพากันไปเฝ้าและปรนนิบัติรับใช้พระองค์ในกิจวัตรต่างๆ เช่น ช่วยหาน้ำใช้ น้ำฉัน ปัดกวาดเสนาสนะ เป็นต้น ด้วยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วจะได้แสดงธรรมโปรดพวกตนบ้าง ปรากฏว่าเมื่อพระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานตนต่างๆนานาอยู่นานถึง ๖ ปี กลับไม่มีความก้าวหน้าในทางธรรมเกิดขึ้น จึงได้พิจารณาเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นคงไม่ถูกต้อง มิใช่ทางบรรลุมรรคผล เลยกลับมาเสวยดังเดิม และตั้งใจบำเพ็ญเพียรทางจิตแทน ฝ่ายปัญจวัคคีย์เมื่อเห็นพระองค์กลับมาเสวยพระกระยาหาร ก็คิดว่าพระองค์คงเกิดความท้อถอย ละความเพียรเสียแล้ว ก็หมดความศรัทธา จึงทิ้งพระองค์ไว้เพียงลำพัง และหนีกันไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี
หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายแข็งแรงเหมือนเดิมแล้ว จึงได้บำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป จนล่วงเข้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชา หลังจากบรรพชามาได้ ๖ ปี (ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา) พระองค์ก็ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ดำริหาบุคคลที่จะโปรดแสดงปฐมเทศนา เพื่อที่จะบรรลุธรรมตามพระองค์ได้ โดยในชั้นแรกได้ทรงระลึกถึง อาฬารดาบส และอุทกดาบส พระอาจารย์ที่เคยทรงศึกษาด้วย แต่ปรากฏว่าทั้งสองคนล้วนถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงระลึกต่อไปถึงเหล่าปัญจวัคคีย์ ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์มาก่อน และทรงทราบว่าทั้งห้าคนไปอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จึงเสด็จไปหา ณ ที่นั้น ฝ่ายปัญจวัคคีย์เมื่อเห็นพระพุทธองค์เสด็จมาก็เข้าใจว่า พระองค์คงจะเสด็จมาแสวงหาผู้อุปัฏฐาก ก็ตกลงกันว่าจะทำเมินเฉยต่อพระองค์ แต่ที่สุดเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสเตือนและกล่าวว่าพระองค์บรรลุธรรมแล้ว จึงยินยอมพร้อมใจกันฟังพระธรรมเทศนาด้วยความเคารพ
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "พระธรรมจักรกัปวัตนสูตร” เป็นปฐมเทศนาโปรดแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งมีเนื้อความกล่าวถึงแนวทางที่สุดโต่งและไม่เป็นประโยชน์ต่อการหลุดพ้น ๒ ทางคือ "กามสุขัลลิกานุโยค” คือ การปฏิบัติที่แสวงหาแต่กามสุข ติดอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กับ อัตตกิลมถานุโยค คือ การปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเกินไป ทำให้ตนต้องทนทุกข์ทรมานอย่างเสียเปล่า จากนั้นได้ทรงชี้แนะวิธีปฏิบัติแบบ "มัชฌิมาปฏิปทา” คือ การปฏิบัติแบบกลางๆ ไม่ย่อหย่อนเกินไปแบบแนวทางแรก และไม่ตึงเกินไปอย่างแนวทางที่สอง แต่ให้ดำเนินตามทางสายกลางซึ่งจะเป็นข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ที่เรียกว่า "อริยมรรค” หรือมรรรค ๘ รวมถึงอริยสัจสี่ เมื่อจบธรรมเทศนา โกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรม สำเร็จพระโสดาบันเป็นคนแรก พระพุทธเจ้าได้เปล่งวาจาว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” แปลว่า "โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ” ด้วยพระวาจาดังกล่าว ต่อมาพระโกณฑัญญะ จึงมีคำว่า อัญญา อันมาจากคำว่า "อญฺญสิ” ที่แปลว่า ได้รู้แล้ว นำหน้าชื่อมาแต่บัดนั้น จากนั้นได้ทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้า พระองค์จึงบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา (คือ ทรงเปล่งวาจาให้เข้ามาเป็นภิกษุด้วยพระองค์เอง) โกณฑัญญะจึงเป็นภิกษุหรือพุทธสาวกองค์แรก และทำให้วันนี้ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่มีครบพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ส่วนปัญจวัคคีย์ที่เหลือเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาต่อ ต่างก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน และขอบวชตามเช่นเดียวกัน เมื่ออุปสมบททั้งหมดแล้ว ต่อมาเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสธรรมเทศนาเรื่อง "อนันตตลักขณสูตร” อันเป็นธรรมที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตาความไม่มีตัวตน ปัญจวัคคีย์ทั้งหมดก็ได้บรรลุพระอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกคน
พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน "รัตตัญญู” อันหมายถึง ผู้รู้กาลนาน ผู้มีอายุมาก มีประสบการณ์มาก หรือรู้เหตุการณ์มาแต่ต้น ซึ่งการที่ท่านได้รับตำแหน่งนี้ กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ท่านได้ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติในสมัยพระพุทธเจ้าปทุ มุตตระ และก็ได้รับคำพยากรณ์ว่าจะสำเร็จสมความปรารถนาได้ในสมัยพระโคตมพุทธเจ้า ก็คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งการที่จะเป็นดังปรารถนาได้นั้น ท่านเองก็ต้องสั่งสมบุญมาอย่างต่อเนื่องในแต่ละชาติภพไม่น้อย
ในบั้นปลายชีวิต เมื่อท่านได้พิจารณาเห็นว่า การที่ตัวท่านมีพรรษาสูงสุดทำให้ทุกคนต้องลำบากมาแสดงความเคารพ ไม่เว้นแม้แต่พระอัครสาวก อีกทั้งขณะนั้นยังอยากปลีกวิเวก ไม่อยากอยู่ใกล้บ้านผู้คน จึงได้กราบทูลลาพระพุทธเจ้าขอไปจำพรรษาอยู่ในป่า ริมสระมันทากินี ซึ่งเป็นที่อยู่ของช้างตระกูลฉัททันต์ ในแดนหิมพานต์ ซึ่งช้างเหล่านี้ได้เคยปรนนิบัติปัจเจกพระพุทธเจ้ามาก่อน ทำให้สามารถดูแลพระสงฆ์ได้ดี เมื่อเห็นพระอัญญาโกณฑัญญะมาอยู่ ก็ดีใจและช่วยกันดูแลท่านเป็นอย่างดี ท่านอยู่ต่อมาอีก ๑๒ ปี วันหนึ่งเมื่อพินิจพิจารณาอายุสังขารเห็นว่าตนใกล้นิพพานแล้ว จึงได้กลับไปทูลลาพระพุทธเจ้า และกลับมาที่นิพพานที่ริมสระมันทากินี ณ แดนหิมพานต์นั้น
...........................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : ภาพพุทธประวัติ วัดพระบาทน้ำพุ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกในหมู่ปัญจวัคคีย์ โกณฑัญญะบรรลุเป็นพระอริยสาวกองค์แรก นั้่งอยู่ด้านขวาของพระพุทธเจ้า