อันเรื่องราวที่ช่างเขียนหรือจิตรกรมักนิยมนำมาเขียนภาพจิตกรรมฝาผนังอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องราวในนิบาตชาดก ๑๐ พระชาติสุดท้ายก่อนที่พระมหาสัตว์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า "ทศชาติชาดก” ดังปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบเนื่องมาในสมัยรัตนโกสินทร์
ทศชาติชาดก นี้ ประกอบด้วยเรื่องราวชาดก ๑๐ พระชาติ ดังนี้
เตมิยชาดก จิตรกรนิยมเขียนภาพจิตรกรรมเหตุการณ์ตอนพระเตมีย์ทรงยกราชรถลอยขึ้นเหนือพระเศียรโดยพระหัตถ์เพียงข้างเดียว โดยมีสารถีกำลังขุดหลุมเพื่อฝังพระเตมีย์ อยู่ในอาการตื่นตระหนก
มหาชนกชาดก จิตรกรมักเขียนเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ตอนนางมณีเมขลากำลังอุ้มพระมหาชนก ด้านล่างเป็นภาพสำเภาขนาดใหญ่แตกกลางมหาสมุทร ผู้คนที่โดยสารมากับเรือสำเภาต่างว่ายน้ำหนีตายกันอลหม่าน
สุวรรณสามชาดก ช่างมักเขียนเบ่าเรื่องราวตอนที่พระสุวรรณสาม ต้องศรพระเจ้าปิลยักษ์แห่งกรุงพาราณสีล้มลง และถึงแก่ความตายในท่ามกลางฝูงกวางรายล้อม
เนมิราชชาดก นิยมเขียนภาพเรื่องราวตอนที่พระเนมิราชทรงราชรถชมสวรรค์และนรก พระมาตุลีเป็นสารถี และทรงแสดงธรรมตามคำกราบทูลของท้าวสักกะ(พระอินทร์) ให้ทวยเทพยดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นภาพแดนสวรรค์อันรื่นรมย์ต่อเนื่องดับแดนนรกอันน่าสะพรึงกลัว
มโหสถชาดก หรือมโหสธ นิยมเขียนภาพตอนที่กองทัพของกษัตริย์จุลนีพรหมทัตยกมาล้อมเมืองมิถิลาของพระเจ้าวิเทหราช แต่ด้วยสติปัญญาของพระมโสถสามารถเอาชนะศึกในครั้งนี้ได้
ภูริทัตชาดก นิยมเขียนภาพตอนพราหมณ์กำลังจับตัวพระภูริทัต ซึ่งเป็นพญานาคผู้มั่นคงในศีลจึงไม่ยอมทำร้ายพราหมณ์ แต่ยอมเจ็บตัวภายหลังจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ด้วยผลบุญที่กระทำ
จันทกุมารชาดก ช่างมักเขียนเล่าเรื่องตอนที่พระจันทกุมารผู้ซื่อสัตย์ถูกกัณฑหาลพราหมณ์ปุโรหิตวางแผนฆ่า โดยให้พระเจ้าเอกราชจับบูชายัญ และพระอินทร์เสด็จลงมาหักฉัตรทำลายพิธีบูชายัญ แต่แล้วปุโรหิตถูกประชาชนลงทัณฑ์จนถึงแก่ชีวิต
มหานารทกัสสปชาดก (นารทชาดก) มักเป็นภาพเรื่องราวพระนารทจำแลงกายเป็นฤาษีเหาะลงมาพบพระเจ้าอังคติราชละจากมิจฉาทิฐิ (ความเห็นที่ผิดจากทำนองคลองธรรม)
วิธุรชาดก นิยมเขียนภาพเล่าเรื่องตอนที่พระวิธุรบัณฑิตเกาะหางม้า และตอนปุณณกยักษ์จับพระวิธุรบัณฑิตลงเหวเพื่อให้ตาย แต่ในที่สุดยักษ์ต้องยอมแพ้เพราะได้ฟังธรรมจากวิธุรบัณฑิต
เวสสันดรชาดก เป็นพระชาติสุดท้ายเรียกว่า มหาชาติ มี ๑๓ กันฑ์ แสดงถึงการบำเพ็ญทานบารมี โดยจิตรกรรมฝาผนังบางแห่งจะเขียนภาพทั้ง ๑๓ กันฑ์ ได้แก่ ทศพร หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนประเวศน์ ชูชก จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักบรรพ มหาราช ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกภูมิปัญญา จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ (วัดราชสิทธาราม วัดสุวรรณาราม และวัดทองธรรมชาติ) มิถุนายน ๒๕๖๓