กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
เล่าที่มาผ้าตีนจกเมืองลอง

วันที่ 13 ก.ค. 2564
 

     เล่าที่มาผ้าตีนจกเมืองลอง การทอผ้าตีนจกเมืองลองนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าความรุ่งเรืองของเมืองลองมีมานานกว่า ๒๐๐ ปี จากหลักฐานภาพถ่ายเจ้านายฝ่ายหญิงของเมืองแพร่ในสมัยก่อน พ.ศ. ๒๔๔๕ พบว่า ผ้าซิ่นที่ใช้สวมใส่จะมีเชิงซิ่นเป็นตีนจก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซิ่นตีนจกที่ทอขึ้นโดยช่างทอผ้าชาวเมืองลอง นอกจากนี้หลักฐานการใช้ผ้าทอตีนจกเมืองลอง ในการแต่งกายของชาวเมืองลองยังปรากฏมานานนับร้อยปี หลักฐานนี้คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ วัดเวียงต้า ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง ฝีมือช่างพื้นบ้านที่มีความงามไม่ด้อยไปกว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารที่วัด ภูมินทร์ จังหวัดน่าน จิตรกรรมเวียงต้า เป็นภาพวิถีชีวิตความเชื่อการแต่งกายของชาวบ้านเวียงต้า ซึ่งเป็นคนเมืองลองในยุคนั้น จากภาพจะเห็นผ้าถุงที่ผู้หญิงในภาพใช้สวมใส่เป็นซิ่นตีนจก การทอผ้าตีนจกมักจะทอเพื่อใช้เองภายในครอบครัว สำหรับนุ่งในโอกาสพิเศษต่าง ๆ หรือทอไว้ใช้ในงานพิธีเมื่อตนเองเสียชีวิต ซึ่งจะทอเป็นผ้าผืนใหญ่ไว้สำหรับคลุมศพของตนเอง นอกจากนี้มักทอไว้ใช้ในงานพิธีกรรมทางศาสนา และพิธีต่าง ๆ เช่น งานทำบุญ ฟ้อนรำ งานแต่งงาน หรือเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งผ้าที่ทอขึ้นจะมีความประณีต มีสีสัน ลวดลายงดงามเป็นพิเศษ ผ้าบางผืนจะทอกันเป็นเวลาแรมปีด้วยใจรักและศรัทธา อาทิ การทอผ้าจกเป็นผ้าคลุมศีรษะนาค ทอจกเป็นย่ามพระ ผ้าห่อคัมภีร์ หรือทอจกเป็นผ้าเพื่อประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยสำหรับใช้ประดับศาลา ประดับธรรมาสน์ในงานประเพณีเทศน์มหาชาติ เป็นต้น

 
     ในอดีตการทอผ้าตีนจกส่วนใหญ่เป็นการทอเพื่อนำมาต่อกับผ้าถุงหรือที่ชาวบ้านภาคเหนือ เรียกว่า "ซิ่น” ทำเป็นเชิงผ้าถุงหรือตีนซิ่น ผ้าซิ่นที่ต่อเชิงด้วยผ้าทอตีนจก มีชื่อเรียกว่า "ซิ่นตีนจก” ทำให้ผ้าซิ่น มีความสวยงามแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สวมใส่ โดยผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองเป็นงานฝีมือที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมีลักษณะเด่น คือ เป็นผ้าทอที่มีลวดลายและสีสันงดงาม โดยลายที่ได้รับความนิยมได้แก่ ลายนกคู่กินน้ำ ลายซะเปาลอยน้ำ ลายดอกหมาก ลายขอเครือ ลายหางซะเปา ลายสิบหกดอกตัด ลายกูดประแจ ลายงูฮ้อยส้าวและลายมะลิวัลย์ ส่วนใหญ่ออกแบบจัดวางลวดลายอย่างอิสระ เช่น ลายหลักที่อาจเป็นได้ทั้งลายหลักและลายประกอบ ส่วนลายประกอบก็อาจเป็นลายหลักได้ ลวดลายผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองมีการกำหนดลวดลายไว้สองกลุ่มใหญ่คือ
 
     ๑. ลายหลัก ประกอบด้วย ลักษณะลายดอก โดยลายดอกของผ้าจกเมืองลองนั้นจะมีลายที่เป็นลวดลายโบราณอยู่ ๑๒ ลาย คือ ลายนกคู่กินน้ำ ร่วมต้น ลายสำเภาลอยน้ำ ลายนกแยงเงา (นกส่องกระจก) ลายขามดแดง ลายขากำปุ้งลายขอไล่ ลายหม่าขนัด (สับปะรด) ลายจันแปดกลีบ ลายดอกจัน ลายขอดาว ลายขอผักกูด และลายดอกขอและลักษณะลวดลายหลักที่เป็นลายต่อเนื่อง ซึ่งลายต่อเนื่องของผ้าจกเมืองลองนั้น มีลายที่เป็นลายโบราณอยู่ ๗ ลาย คือ ลายใบผักแว่น ลายแมงโป้งเล็น ลายโคมและช่อน้อยตุงชัย ลายขอน้ำคุ จันแปดกลีบ ลายเครือกาบหมวก ลายโก้งเก้งซ้อนนก และลายพุ่มดอกนกกินน้ำร่วมต้น
 
     ๒.ลายประกอบ จะเป็นลายเล็ก ๆหรือลายย่อยอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผ้าตีนจกมีความสมบูรณ์ มีอยู่หลายลาย ซึ่งสามารถจำแนกตามลักษณะของลวดลายได้ ๖ ประเภท คือ ๑.ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากพืช ๒.ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากสัตว์ ๓.ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากรูปทรงเรขาคณิต ๔.ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากการประยุกต์ ๕.ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากสัตว์ผสมรูปแบบจากรูปทรงเรขาคณิต ๖.ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากสัตว์ผสมรูปแบบจากการประยุกต์
 
     สำหรับผู้สืบทอดการทอผ้าตีนจกเมืองลองที่มีความเชี่ยวชาญและยังคงอนุรักษ์สืบสานกรรมวิธีการทอ การออกแบบลวดลาย ผ้าทอตีนจกเมืองลอง ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้าขวาง คือนางประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๓ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ) ที่สืบทอดการทอผ้าตีนจกจากนางยวง อุปถัมภ์ ผู้เป็นป้าและเป็นช่างทอผ้าตีนจกที่มีความสามารถสูงและมีความรู้ความสามารถในการทอผ้าด้วยเทคนิคการจกแบบโบราณของเมืองลอง ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนางประนอม ทาแปง ก่อนที่จะเสียชีวิต โดยนางประนอม ได้ยึดเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา ทำสวน จนเกิดความเชี่ยวชาญจนสามารถพัฒนาลวดลายการทอแบบโบราณที่มีไม่กี่ลายและสีสันไม่งดงาม มาประยุกต์เพิ่มเติมให้เกิดลวดลายและความงดงามเพิ่มขึ้น จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น นางประนอม ทาแปง เป็นผู้ที่มีความสามารถในการทอผ้าเป็นเลิศและยังเป็นนักอนุรักษ์สืบสานและพัฒนาศิลปหัตกรรมพื้นบ้านอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปลูกคราม ทำเส้นฝ้าย ทอผ้า ย้อมสีธรรมชาติไปจนถึงการออกแบบตัดเย็บจนสามารถสร้างรายได้และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับคนในชุมชน
 
...............................................................
 
 
ภาพ : www.pinterest.com
ขอบคุณที่มา : หนังสือ ผ้าไหมพื้นบ้าน โดย ศิริ ผาสุก ,https://ongtong.com/blogcontent.php?iden=๑๙ , https://www.qsds.go.th/silkcotton/k_๑๑.php
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)