กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “อลังการ...ช้างเอราวัณ”

วันที่ 12 ก.ค. 2564
 

     "อินทรชิตบิดเบือนกายิน เหมือนองค์อมรินทร์ ทรงคชเอราวัณ ช้างนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน เผือกผ่องผิวพรรณ สีสังข์สะอาดโอฬาร์ สามสิบสามเศียรโสภา เศียรหนึ่งเจ็ดงา ดั่งเพชรรัตน์รูจี งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี สระหนึ่งย่อมมี เจ็ดกออุบลบันดาล กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์ ดอกหนึ่งเบ่งบาน มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา กลีบหนึ่งมีเทพธิดา เจ็ดองค์โสภา แน่งน้อยลำเพานงพาล นางหนึ่งย่อมมีบริวาร อีกเจ็ดเยาวมาลย์ ล้วนรูปนิรมิตมายา จับระบำรำร่ายส่ายหา ชำเลืองหางตา ทำทีดังเทพอัปสร มีวิมานแก้วงามบวร ทุกเกศกุญชร ดังเวไชยันต์อมรินทร์ เครื่องประดับเก้าแก้วโกมิน ซองหางกระวิน สร้อยสายชนักถักทอง ตาข่ายเพชรรัตน์ร้อยกรอง ผ้าทิพย์ปกตระพอง ห้อยพู่ทุกหูคชสาร โลทันสารถีขุนมาร เป็นเทพบุตรควาญ ขับท้ายที่นั่งช้างทรง บรรดาโยธาจัตุรงค์ เปลี่ยนแปลงกายคง เป็นเทพไทเทวัญ ทัพหน้าอารักขไพรสัณฑ์ ทัพหลังสุบรรณ กินนรนาคนาคา ปีกซ้ายฤษิตวิทยา คนธรรพ์ปีกขวา ตั้งตามตำรับทัพชัย ล้วนถืออาวุธเกรียงไกร โตมรศรชัย พระขรรค์คถาถ้วนตน ลอยฟ้ามาในเวหน รีบเร่งรี้พล มาถึงสมรภูมิชัย”

 
     ข้างต้นคือบทพากย์เอราวัณ อันกล่าวถึงตอนอินทรชิต ลูกทศกัณฐ์ใช้กลศึกแปลงกายเป็นพระอินทร์ไปลวงทัพของพระราม ด้วยการทรงช้างเอราวัณพร้อมเคลื่อนพลแบบจัดเต็ม มีทั้งเทวดา ครุฑนาค กินนรฤษีคนธรรพ์และเหล่าบริวารทั้งหลายมาปรากฏต่อหน้าพระลักษณ์ผู้นำทัพในครั้งนั้น ทำให้พระลักษณ์เห็นแล้วตกตะลึงในความอลังการงานสร้างจนเผลอไผลมองเพลิน เผยจุดอ่อนให้อินทรชิตแผลงศรพรหมาสตร์ยิงจนสลบไสลไปทั้งกองทัพ โดยเฉพาะตัวพระลักษณ์ที่โดนศรอย่างเต็มๆ จนเกือบพ่ายศึก ดีว่าได้พิเภกตามมาช่วยแก้ได้ทัน จะว่าไปแล้ว อีกสาเหตุที่พระลักษณ์ไม่ทันระวังตัว คงเพราะเห็นว่าพระอินทร์เป็นพวกเดียวกันด้วย
 
     อย่างไรก็ดี ในขบวนทัพที่พระอินทร์หรืออินทรชิตแปลงยกมาในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าทำให้พระลักษณ์จ้องจนลืมตัวมากที่สุดน่าจะเป็น "ช้างเอราวัณ” ซึ่งจากบทพากย์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นช้างที่มีขนาดยิ่งกว่าคำว่าใหญ่โตมโหฬารมากนัก "เอราวัณ” เป็นช้างทรงของพระอินทร์ ที่บางตำราก็บอกว่าเป็นช้างที่พระอิศวรประทานให้ บางแห่งก็ว่าเป็นช้างที่มาฆมานพใช้งาน เมื่อสร้างศาลาสมัยเป็นมนุษย์ ด้วยบุญที่สั่งสมมา ครั้นตายแล้ว จึงเกิดเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ชั้นเดียวกับพระอินทร์นั่นแหละ พอพระองค์จะเสด็จไปไหนๆก็จะเนรมิตกายเป็นช้างทรงให้ บางแห่งก็ว่าเป็นหนึ่งในของวิเศษที่ได้จากการกวนเกษียรสมุทร คำว่า "เอราวัณ” ยังเขียนได้ต่างๆกันในภาษาไทยและภาษาบาลีสันสันสกฤต เช่น ไอราวัณ ไอราพต เอราวณ ไอราวต ซึ่งทั้งหมดนี้หมายถึง น้ำ เมฆฝน หรือก้อนเมฆที่มีฟ้าแลบ และทำให้เกิดฝน
 
     หากพิจารณาบทบรรยาย จะเห็นรายละเอียดของ "ช้างเอราวัณ” ว่ามีลักษณะพิเศษยิ่ง คือ เป็นช้างเผือกที่มีผิวกายดังสีสังข์ มีเศียรที่งดงามถึง ๓๓ เศียร แต่ละเศียรจะมีงาที่สวยงามดังเพชรอยู่ ๗ งา แต่ละงาจะมีสระโบกขรณี (สระบัว)อยู่ ๗ สระ แต่ละสระก็จะมีบัวอยู่ ๗ กอ แต่ละกอจะมีดอกบัวอยู่ ๗ ดอก แต่ละดอกจะมีกลีบบัว ๗ กลีบ แต่ละกลีบจะมีเทพธิดาประจำอยู่ ๗ องค์ แต่ละองค์จะมีบริวารอยู่ ๗ ตน และทุกเศียรจะมีวิมานแก้วที่งดงามราวปราสาทเวไชยันต์ตั้งอยู่ นอกจากนี้ยังทรงเครื่องด้วยแก้วเก้าประการ เช่น ซองหางและกระวิน(ห่วงที่เกี่ยวกันสำหรับโยงสัปคับช้าง) ประดับด้วยโกเมน สายชนักเป็นสร้อยถักด้วยทอง มีตาข่ายเพชรตกแต่งที่เศียร และมีผ้าทิพย์ประดับอยู่ที่ตระพอง และหูทุกหูก็มีพู่ห้อยอย่างสวยงาม ถ้าเทียบกับสาวๆก็เรียกได้ว่า แต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศ และใส่เครื่องเพชรเครื่องทองอย่างเต็มที่ เช่นนี้แล้วจะไม่ให้พระลักษณ์ตาลายเมื่อแรกเห็นได้อย่างไร เพราะแค่รูปร่างที่ปรากฏก็ใหญ่โตเป็นภูเขาเลากา แถมยังเป็นภูเขาเคลื่อนที่ที่ประดับประดาตกแต่งซะงามเลิศอลังการขนาดนั้น
 
     มีผู้คำนวณสิ่งที่ปรากฏบนตัวช้างเอราวัณรวมกันได้ว่า มี ๓๓ หัว มีงา ๒๓๑ งา มีสระบัว ๑,๖๑๗ สระ มีกอบัว ๑๑,๓๑๙ กอ มีดอกบัว ๗๙,๒๓๓ ดอก กลีบบัว ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ เทพธิดา ๓,๘๘๒,๔๑๗ องค์ และมีบริวารเท่ากับ ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง ผิดถูกยังไง ใครเก่งเลขก็ลองคำนวณดูก็แล้วกัน อินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ครั้งนี้นับว่าต้องใช้บริวารจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว เพราะแค่นางฟ้ากับเหล่าบริวารก็ปาไป ๓๐ กว่าล้านนางแล้ว ยังไม่นับพวกที่ต้องแปลงเป็นเทวดา ครุฑนาค กินนรฤษี คนธรรพ์ที่เป็นขบวนตามเสด็จอื่นๆอีก สำหรับหน้าที่สำคัญของช้างเอราวัณ ก็คือ การเป็นพาหนะของพระอินทร์ในการนำเสด็จไปยังที่ต่างๆทั้งบนสวรรค์ โลกมนุษย์ เพื่อสอดส่องดูแลทุกข์สุขของชาวโลก อีกทั้งยังเป็นช้างศึกยามที่พระอินทร์ออกไปสู้รบกับเหล่าอสูรหรือศัตรู และจากความเชื่อที่ว่าพระอินทร์เป็นเทพที่กำกับดูแลดินฟ้าอากาศที่มีสายวัชระเป็นอาวุธ จึงมีหน้าที่อีกอย่างในการช่วยกำจัดความแห้งแล้ง และนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่โลก ดังนั้น ช้างเอราวัณจึงมีหน้าที่ช่วยดูดน้ำจากโลกขึ้นไปบนสวรรค์ เพื่อพระอินทร์บันดาลให้เกิดเป็นฝน ตกลงสู่โลกมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเอราวัณ ที่มีความหมายถึงน้ำหรือเมฆฝนที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น
 
     ในบ้านเรามี พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ หรือที่เรียกว่า พิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่สร้างโดยนายเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างเมืองโบราณ เป็นประติมากรรมรูปช้างเอราวัณที่อาจกล่าวได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ ตัวอาคารสูงราวตึก ๑๗ ชั้น มีน้ำหนักตัวช้างรวม ๒๕๐ ตัน เป็นลำตัวหนัก ๑๕๐ ตัน และส่วนเศียรหนัก ๑๐๐ ตัน ใช้ทองแดงบริสุทธิ์เคาะด้วยมือทำผิวช้าง การที่ช้างเอราวัณดังกล่าวมีเพียง ๓ เศียรมิใช่ ๓๓ เศียรตามวรรณกรรมนั้น กล่าวว่าเป็นเพราะความสลับซับซ้อนทางโครงสร้าง ทำให้ต้องลดทอนจำนวนเศียรลง เพื่อให้สามารถสร้างเป็นประติมากรรมลอยตัวได้อย่างสวยงามตามที่เห็นในปัจจุบัน
 
.......................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)