กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน จิตรกรรมฝาผนัง มรดกของบรรพชน

วันที่ 9 ก.ค. 2564
 

     จิตรกรรมฝาผนัง ภาพเขียนบนผนังหรือส่วนประกอบอื่นของอาคารเพื่อประดับตกแต่ง ในประเทศไทยพบหลักฐานชัดเจนในสมัยสุโขทัยเมื่อราว พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา เป็นภาพเขียนเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อยู่ภายในคูหาหรือห้องกรุของพระเจดีย์
 
     ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลายพบหลักฐานการเขียนภาพจิตรกรรมบนผนังพระอุโบสถ และพระวิหาร นับเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่า ภาพจิตรกรรมที่เขียนนี้มีเรื่องราวที่ชัดเจนขึ้น ได้แก่ เรื่องพุทธประวัติและอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ หรืออธิบายหลักธรรม ความเชื่อต่าง ๆทางพระพุทธศาสนาเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เกิดความเข้าใจและศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา
 
     เนื้อเรื่องของจิตรกรรมฝาผนังแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
 
     ๑.เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ ทศชาติชาดก เรื่องไตรภูมิ เรื่องธุดงควัตร อสุภะ ฯลฯ
 
     ๒.เรื่องราวเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีสิบสองเดือน เรื่องขยวนแก่ในการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินทางชลมารค และทางสถลมารค ฯลฯ
 
     ๓.เรื่องราวในวรรณคดีสำคัญ เช่น เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอิเหนา เรื่องสังข์ทอง ศรีธนญชัย ฯลฯ
 
     ๔.เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา เรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯลฯ
 
     การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ และพระวิหารนี้ นิยมเขียนบนฝาผนังด้านสกัดส่วนหัวและท้าย กล่าวคือ ด้านหน้าและด้านหลังจะเรียกว่า ฝาผนังด้านหุ้มกลอง ซึ่งเป็นฝาผนังขนาดใหญ่ นิยมเขียนรูปภาพเหตุการณ์ตอนสำคัญ เช่น รูปภาพปฐมสมโพธิ ตอนมารวิชัย หรือพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ภายหลังจากเทศนาโปรดพระพุทธมารดา
 
     ส่วนฝาผนังด้านข้างทั้งสองด้าน ที่เชื่อมต่อเข้ากับฝาผนังด้านหุ้มกลอง เรียกว่า "ด้านรี” มีทั้งที่เจาะเป็นช่องหน้าต่างซึ่งทำให้แนวผนังขาดเป็นช่องๆ แต่ก็มีพื้นที่กว้างและสูงพอประมาณ จะเรียกพื้นที่ว่างระหว่างช่องหน้าต่างว่า "ห้อง” อีกลักษณะหนึ่งในส่วนผนังด้านข้างที่เป็นผนังทึบทั้งหมดที่ไม่ใช่ส่วนช่องหน้าต่าง ฝาทึบนี้นิยมเขียน "ภาพเทพพนม” เป็นรูปเทวดานั่งประนมมือเรียงติดต่อกันไปเป็นแถวตลอดผนัง ตั้งแต่เชิงผนังขึ้นไปจนสุดปลายผนัง
 
     นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ผนังระหว่างช่องประตูทั้งด้านหน้าและด้านหลังอุโบสถ ซึ่งมักจะเขียนเรื่องราวที่เป็นเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ เช่น ตอนโทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น
 
     ติดตามอ่าน >>>ประวัติและเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนัง http://www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/090764.pdf
 
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกภูมิปัญญา จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ (วัดราชสิทธาราม วัดสุวรรณาราม และวัดทองธรรมชาติ) มิถุนายน ๒๕๖๓
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)