
มีสาวน้อยชื่อ "มุก” หรือ "มุข” เดิมอาศัยอยู่ที่บางปลาสร้อย (ตัวเมืองจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน) มุกเป็นเด็กกำพร้าด้วยพ่อกับแม่มาตายตั้งแต่ยังเล็ก ยายจึงนำหลานสาวมาเลี้ยงดูอยู่ด้วยกันที่บ้านอ่างหิน ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี จนมุกโตเป็นสาว เวลาว่างสาวมุกชอบมานั่งเล่นที่เชิงเขาเตี้ยๆ บริเวณอ่างศิลาเป็นประจำ และแล้วในวันหนึ่งพบว่าวตัวหนึ่งขาดลอยมาตกอยู่ต่อหน้าเธอ ฝั่งเจ้าของว่าว คือ หนุ่มแสน ลูกชายของกำนันประจำตำบลแห่งนี้ วิ่งตามว่าวมาจึงทำให้ทั้งสองได้พบกัน หนุ่มแสนได้มอบว่าวตัวนั้นให้ไว้เป็นที่ระลึก ภายหลังทั้งสองได้นัดพบกันอีกหลายครั้งจนเกิดเป็นความรัก จนถึงขนาดได้ให้สัตย์สาบานต่อกันที่หน้าเชิงเขานี้ว่า จะรักกันชั่วนิรันดร์ หากผิดคำสาบานจะกระโดดหน้าผาแห่งนี้ตายตามกัน
ต่อมากำนันพ่อของหนุ่มแสนทราบเรื่องจึงไม่พอใจอย่างมาก กีดกันไม่ให้ทั้งสองได้พบกัน และได้ตกลงให้แสนแต่งงานกับลูกสาวคนทำโป๊ะที่ได้สู่ขอไว้ เมื่อเรื่องถึงหูสาวมุกทำให้เศร้าโศกเสียใจจนคิดสั้น จึงวิ่งไปที่หน้าผาเพื่อกระโดดหน้าผาตายตามคำสาบาน เมื่อแสนรู้เรื่องจึงวิ่งตามไปและกระโดดหน้าผาตายตามคำสาบานเช่นกัน ทำให้พ่อกำนันเสียใจและสำนึกผิดจึงนำเครื่องถ้วยชามต่างๆ มาไว้ในถ้ำบริเวณเชิงเขา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความรักของทั้งสองคน

ศาลเจ้าแม่เขาสามมุข (ไทย) อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี
ตั้งแต่นั้นมาทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เรียกภูเขาที่สาวมุกกระโดดหน้าผาตายว่า "เขาสาวมุก” เพื่อระลึกถึงมุก สาวน้อยผู้มั่นคงต่อความรัก นานวันเข้าจึงเพี้ยนเป็น "สามมุข” ในที่สุด และบริเวณถ้ำนั้นเชื่อว่าเป็นถ้ำลับแลมีเครื่องถ้วยชามต่างๆ ที่กำนันบิดาของแสนนำมาไว้ เมื่อชาวบ้านมีงานบุญสามารถหยิบยืมนำไปใช้งานได้ ซึ่งภายหลังถ้ำนี้ถูกปิดปากถ้ำไปเมื่อคราวก่อสร้างถนนสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่วนชายหาดที่พบศพหญิงชายทั้งสองหลังจากกระโดดหน้าผาตายนั้น ชาวบ้านเรียกกันว่า "หาดบางแสน” เพื่อระลึกถึงนายแสนคนรักของสาวมุก นั่นเอง

ศาลเจ้าแม่เขาสามมุข (จีน) จังหวัดชลบุรี
"ตำนานเจ้าแม่เขาสามมุข” จึงกลายเป็นตำนานประจำท้องถิ่นของพื้นที่บริเวณเนินเขาขนาดเล็กที่ตำบลอ่างศิลากับพื้นที่หาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ในท้องถิ่นมักเรียกว่า ตำนานเจ้าแม่เขาสมมุก เจ้าแม่สำมุก เจ้าแม่เขาสามมุข หรือ ตำนานเจ้าพ่อแสน เจ้าพ่อบางแสน แต่โดยทั่วไปมักเรียกว่า ตำนานเจ้าแม่เขาสามมุข และเป็นตำนานที่แพร่หลายไปทั่วบริเวณชุมชนชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย เชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของชาวประมงและผู้เดินทางทางทะเลในภาคตะวันออกมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนที่ชาวประมงจะออกเดินเรือจะนำประทัดมาจุดบูชาเพื่อขอให้ช่วยในการทำมาหากินและแคล้วคลาดจากลมพายุ

ศาลเจ้าพ่อแสน ชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี
ดังปรากฏหลักฐานในนิราศเมืองแกลงที่แต่งเมื่อครั้งเดินทางไปเยี่ยมบิดาราว พ.ศ. ๒๓๔๙ ของสุนทรภู่ ที่กล่าวถึงเจ้าแม่เขาสามมุกไว้ด้วย และเมื่อถึงเทศกาลสำคัญต่างๆ อาทิ ตรุษจีน สารทจีน ชาวบ้านที่นับถือก็จะนำเครื่องเซ่นไหว้และว่าว มาเป็นเครื่องบูชากราบไหว้ที่ศาลเจ้าแม่เขาสามมุขด้วย นอกเหนือจากการบูชาของชาวประมงก่อนออกทะเล ดังว่า
" พี่แข็งขืนฝืนภาวนานิ่ง แลตลิ่งไรไรยังไกลเหลือ
เห็นเกินรอยบางปลาสร้อยอยู่ท้ายเรือ คลื่นก็เฝือฟูมฟองคะนองพราย
เห็นจวนจนบน เจ้าเขาสำมุก จงช่วยทุกข์ถึงที่จะทำถวาย
พอขาดคำน้ำขึ้นทั้งคลื่นคลาย ทั้งสายนายหน้าชื่นค่อยเฉื่อยมา ” ..
(บางตอนจากนิราศเมืองแกลง โดยสุนทรภู่)
ปัจจุบัน ตำนานเจ้าแม่เขาสามมุข ดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง เนื่องจากมีศาลสำหรับเป็นที่สักการบูชาของผู้คนตามความเชื่อ ปัจจุบันมีด้วยกัน ๒ ศาล คือ ศาลเจ้าแม่เขาสามมุข (ไทย) และ ศาลเจ้าแม่เขาสามมุข (จีน) ทั้งนี้ศาลไทยเป็นศาลเก่าแก่ที่ใช้ตำนานประจำถิ่นความรักของสาวมุขกับหนุ่มแสนในการเผยแพร่ประวัติเจ้าแม่เขาสามมุข ส่วนศาลจีนเป็นศาลเก่าแก่ของชุมชนคนจีนที่ใช้เรื่อง "เจ้าแม่ทับทิม” ในการเผยแพร่ประวัติเจ้าแม่เขาสามมุข เนื่องจากชาวจีนที่อ่างศิลาได้อัญเชิญกระถางธูปไฮตังม่าติดเรือมาจากเมืองจีน เมื่อมาตั้งรกรากใหม่ๆที่ชลบุรี จึงได้ตั้งศาลไฮตังม่าข้างศาลเจ้าแม่เขาสามมุกเดิม และใช้ชื่อศาลว่า ศาลเจ้าแม่เขาสามมุข(จีน) มาจนถึงทุกวัน
ตำนานเจ้าแม่เขาสามมุก นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในสาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา
"เขาสามมุข” สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี
ที่มา : เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ich.culture.go.th