กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
เล่าที่มาผ้าบาติก

วันที่ 15 มิ.ย. 2564
 

      บาติก (Batik) หรือ ปาเต๊ะ เป็นคำในภาษาชวาที่ใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายที่เป็นจุด คำว่า  "ติก" มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือจุดเล็กๆมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ตริติก หรือ ตาริติก ดังนั้นคำว่า บาติก จึงมีความหมายว่าเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ โดยแหล่งกำเนิดของผ้าบาติกมาจากไหนยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด แต่นักวิชาการชาวยุโรปหลายคนยังเชื่อว่า กำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย แล้วจึงแพร่หลายเข้าไปในอินโดนีเซีย ทว่าอีกหลายคนบอกว่ามาจากอียิปต์ หรือเปอร์เซีย และแม้ว่าจะมีการค้นพบผ้าบาติกที่มีอายุเก่าแก่ในประเทศอื่นๆ ทั้งอียิปต์ อินเดีย และญี่ปุ่น  แต่บางคนก็ยังเชื่อว่าผ้าบาติกเป็นของดั้งเดิมของอินโดนีเซีย โดยยืนยันจากรากศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกวิธีการ และขั้นตอนการทำผ้าบาติกว่าเป็นศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย อีกทั้งจากการศึกษาค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ยังสรุปไว้ว่า การทำโสร่งบาติก หรือโสร่งปาเต๊ะ เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนติดต่อกับอินเดีย ดังนั้นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมนี้น่าจะมีเค้าลางมาจากอินโดนีเซีย เป็นสำคัญ ก่อนที่จะถูกเผยแพร่ไปยังชาติอื่นๆ รวมไปถึงพื้นที่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน  ในอดีตผ้าบาติกคือสายสัมพันธ์ระหว่างไทยและชวาอย่างแท้จริง เพราะในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงเสด็จเยือนชวาอย่างเป็นทางการเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๑๓ ซึ่งนับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเป็นครั้งแรก  จากนั้นยังได้เสด็จชวาอีกครั้งในปีพุทธศักราช ๒๔๓๙ และ ๒๔๔๔ โดยแต่ละครั้งพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเขียนผ้าบาติกอันเป็นหัตถศิลป์ที่เลื่องชื่อของชวาเสมอ และทรงซื้อผ้าบาติกกลับมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายด้วย ทำให้ทรงมีผ้าบาติกเท่าที่ค้นพบได้กว่า ๓๐๗ ผืน  ผ้าเหล่านี้มีความโดดเด่นในแง่ของความงดงามและองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์

      การทำผ้าบาติกในสมัยก่อนใช้วิธีการเขียนเทียนเป็นหลักโดยใช้เทียนปิดในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีและใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสีเท่านั้น  ผ้าบาติกบางชิ้นอาจจะผ่านขั้นตอนการปิดเทียน แต้มสี  ระบายสีและย้อมสีนับเป็นสิบๆครั้ง  ส่วนผ้าบาติกอย่างง่ายอาจทำโดยการเขียนเทียนหรือพิมพ์เทียนแล้วจึงนำไปย้อมสีที่ต้องการ  นับเป็นกรรมวิธีที่แสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพบุรษอย่างแท้จริง  อีกทั้งลายของผ้าบาติกส่วนมากแล้วจะเป็นลวดลายและสีสันที่เลียนแบบลายธรรมชาติ  และมีอัตลักษณ์วัฒนธรรมรอบตัวของแต่ละชุมชนที่นำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ได้อย่างดี ความโดดเด่นของผ้าบาติกจึงอยู่ที่การใช้สี และลวดลายที่คมชัดของภาพที่สามารถบอกอะไรได้หลายอย่างทั้งถิ่นที่มา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่  ธรรมชาติ ไปจนถึงเอกลักษณ์ของแหล่งผลิต หรือกระทั่งความรู้สึกนึกคิดของคนในท้องถิ่นนั้นๆ จึงนับได้ว่าผ้าบาติกได้รวมอารยธรรมของความเป็นภาคใต้เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบและมีการส่งต่อมายังคนรุ่นหลังจวบจนปัจจุบัน

     สำหรับผ้าบาติกนิยมใช้กันมากในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ดารุสซาลาม หมู่เกาะทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์และภาคใต้ของประเทศไทยเรา  โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส  ยะลา และปัตตานี  ได้มีการจัดทำผ้าบาติกเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว  สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเป็นจำนวนมาก  นอกจากนี้ยังได้รับความิยมจากเหล่าดีไซเนอร์ชาวไทยนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมแฟชั่น หลายคนได้นำผ้าไทยอย่างผ้าบาติกมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่มีความร่วมสมัยตามความต้องการของตลาด อาทิ  เสื้อเชิ้ต กางเกง ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดหน้ากระเป๋า ผ้าคลุมศีรษะของสตรีชาวมุสลิม  ผ้าถุง  เป็นต้น และเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างก็นำผ้าบาติกมาผนวกเข้ากันสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ ตกแต่งให้เกิดความสวยงามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าบาติก  ผ้าบาติกจึงกลายเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับหลายชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทย 

 
..................................
 
ขอขอบคุณที่มา : https://www.vogue.co.th/fashion/article/batikhistory ,
http://www.pattraphathai.com/ , http://www.linethaibatik.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)