"เขาล้อมหมวก” สถานที่ในนิทานพื้นบ้าน จังหวัดประจวบคีรัขันธ์
อันโศกนาฏกรรมรักสามเส้า บนโลกนี้มีมากมาย แต่จะมีเรื่องใดที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลต่อสภาพภูมิศาสตร์ ที่มาอันแปลกประหลาดของสถานที่ต่างๆ เหมือนเรื่องนี้คงหาได้ยาก ดังเรื่องราวระหว่างชาย ๒ กับหญิง ๑ อันเป็นที่มาของลักษณะทางภูมิศาสตร์สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น หาดทราย เกาะ คุ้งอ่าว และภูเขา รวมถึงสิ่งต่างๆในบริเวณชายฝั่งทะเลของไทย คือเรื่อง "ตาม่องล่าย” นิทานพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันอย่างกว้างขวางของคนในท้องถิ่นแถบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน เริ่มจากฝั่งตะวันตกในเขตจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร จนถึงฝั่งทะเลตะวันออกในเขตจังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง และชลบุรี นอกจากจะอธิบายภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นแล้ว ยังอธิบายภูมินามต่างๆ ตามชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เช่น เขาตาม่องล่าย เขาล้อมหมวก เขาช่องกระจก เกาะทะลุ ที่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เกาะกระบุง จังหวัดตราด เป็นต้น
เรื่องมีอยู่ว่า ตาม่องล่ายกับยายรำพึง อยู่บ้านหลังหนึ่งริมทะเลบ้านอ่าวน้อย ประจวบคีรีขันธ์ มีลูกสาวสวยชื่อ ยมโดย มีความสวยโดดเด่นเป็นที่เลื่องลือ จึงมีชายหมายปองหลายคน ชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งชื่อเจ้าลายซึ่งมียายรำพึง ให้การสนับสนุน เนื่องจากรู้ใจชอบนำของกำนัลมาให้เป็นประจำ อีกคนหนึ่งคือ เจ้ากรุงจีน ซึ่งมีตาม่องล่ายสนับสนุนอยู่ ต่อมาชายทั้งสอง ได้มาสู่ขอสาวยม กับตาม่องล่าย และยายรำพึง เพียงลำพัง ต่างก็ยกให้ชายหนุ่มที่ตนพอใจโดยไม่ได้รับรู้เรื่องของอีกฝ่าย เกิดเหตุบังเอิญที่นัดวันแต่งงานตรงวันเดียวกัน เมื่อถึงวันสำคัญ ขบวนขันหมากของทั้งสองฝ่าย จึงยกมาประจันหน้ากัน สองตายายไม่รู้จะทำอย่างไรดี ในที่สุดก็หันไปโทษกันทะเลาะกันอย่างรุนแรง จนยายรำพึงฉวยได้หมวก ขว้างใส่ตาม่องล่าย แต่หมวกลอยตามแรงลมลงทะเลกลายเป็นเขาล้อมหมวก ตาม่องล่ายก็ไม่ยอมฉวยได้กระบุง ขว้างใส่ยายรำพึงทันที กระบุงก็ลอยไปตกในทะเลแถวจังหวัดตราด เป็นเกาะกระบุง ยายรำพึงไม่ยอม คว้าได้งอบขว้างเข้าใส่ตาม่องล่ายอีก คราวนี้งอบลอยไปตกในทะเล กลายเป็นแหลมงอบที่จันทบุรี ตาม่องล่ายก็โต้ตอบโดยการขว้างสากใส่ยายรำพึง แต่สากกระดอนไปกระทบเกาะที่ขวางหน้าจนเกาะทะลุ ที่บางสะพานน้อย แล้วกระดอนลงไปในทะเล ไปเป็นเกาะสาก ที่จังหวัดตราด เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ส่วนบรรดาข้าวของในขบวนขันหมากที่ตาม่องล่ายขว้างไปนั้นกระจัดกระจายลอยไปตกในที่พื้นที่ต่างๆ ได้กลายเป็น เขาขันหมาก หรือ เขาสามร้อยยอด ในกิ่งอำเภอสามร้อยยอด โดยพลูลอยไปตกกลายเป็นหอยพลูมวน ส่วนหมากตกไปกลายเป็น เกาะหมาก ขนมจีนกลายเป็น สาหร่ายทะเล ปูทอดกลายไปเป็น ปูหิน กระจกส่องหน้าของลูกสาวคนสวยได้ลอยไปติดที่เขาลูกหนึ่ง เรียกกันว่า เขาช่องกระจก ในเวลาต่อมา ส่วนตะเกียบก็กลายเป็น เขาตะเกียบ ที่อำเภอหัวหิน จานได้ลอยไปตกกลายเป็น "เกาะจาน” อยู่หน้าอ่าวคลองวาฬ ส่วนเครื่องเพชรเครื่องทองทั้งหลายกลายไปเป็น หอยดาว หอยทับทิม
ยายรำพึงหมดปัญญาที่จะโต้ตอบโมโหสุดขีดเดินสติแตกไปถึงชายทะเล นอนชักดิ้นสิ้นใจตายจนกลายเป็น "เขาแม่รำพึง” อำเภอบางสะพาน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น ตาม่องล่ายไม่รู้จะทำประการใด จึงคว้าลูกสาวที่มองว่าเป็นตัวปัญหา จับฉีกออกเป็นสองซีก ๆ หนึ่งขว้างให้เจ้าลาย ตกลงทะเลกลายเป็น "เขานมสาว” บริเวณชายทะเลบ้านบางปู กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อีกซีกโยนไปให้เจ้ากรุงจีน กลายเป็น "เกาะนมสาว” จันทบุรี ฝ่ายเจ้าลายชายหนุ่มเสียใจสุดขีดจนอาเจียนออกมาเป็นโลหิต ตายไปกลายเป็น เขาเจ้าลาย ที่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนเจ้ากรุงจีนจึงได้ยกขบวนกลับเมืองจีนไป สุดท้ายตาม่องล่าย ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเอาเหล้ามาดื่มเดินโซซัดโซเซไปยืนตายอยู่ริมทะเลแห่งนั้น กลายเป็น "เขาตาม่องล่าย” ลักษณะคล้ายคนยืนพิงเขาและที่เท้าจะมีหินรูปคล้ายไหเหล้าวางอยู่ ปัจจุบันคือ "วนอุทยานเขาตาม่องล่าย” ตำบลอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นั่นเอง

เขาตาม่องล่าย ตำบลอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
"ตาม่องล่าย” ถือเป็นนิทานประจำถิ่นของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระยองที่มีชื่อเสียงมาก จนถูกนำมาสร้างสรรค์ในรูปแบบของ ละครพันทางเรื่อง ตาม่องล่าย ซึ่งจัดแสดงเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ ชื่อของตัวละครก็ยังได้มีการนำมาใช้เป็นชื่อสถานที่ต่างๆ เช่น ตาม่องล่ายรีสอร์ท และยังมีผู้นำไปสร้างสรรค์ให้ปรากฏในรูปแบบของเพลง ชื่อว่า เพลงตาม่องล่าย เพื่อใช้ประกอบละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องตาม่องล่าย นอกจากนี้ ยังพบว่าได้มีการจัดพิมพ์วรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องนี้เป็นภาษาต่างประเทศ ถึง ๗ ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน และอิตาเลียน รวมทั้งสำนวนที่เป็นภาษาไทย โดยมีภาพประกอบทั้งที่เป็นภาพการ์ตูน และมีภาพถ่ายเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ประกอบเรื่องเล่าไว้ในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องนี้อีกด้วย
นิทาน "ตาม่องล่าย” ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในสาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา จัดอยู่ในประเภทนิทานพื้นบ้าน
ที่มา : เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ich.culture.go.th