
คนเราส่วนมากย่อมอยากให้ตนเองเป็นที่ชื่นชอบของผู้อื่น ยามเยาว์วัยเราก็อยากจะเรียนดีให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ชื่นชม ยามเติบใหญ่เราก็อยากทำงานเก่ง จนเป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูง ผู้บังคับบัญชา แต่การที่เราจะเรียนดี และทำงานเก่งได้นั้น หลายคนอาจจะมีสมองดี มีพรสวรรค์ทำอะไรล้วนประสบความสำเร็จไปหมด แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เจริญก้าวหน้าด้วยพรแสวงหรือด้วยความมุมานะบากบั่นของตนเอง แล้วสิ่งใดเล่าจะช่วยให้ความมานะพยายามนี้บรรลุเป้าหมาย เรามาเล่าสู่กันฟังถึงเคล็ดลับที่ว่ากัน
ในทางพุทธศาสนามีหลักสำคัญหนึ่งที่เรียกว่า "หัวใจนักปราชญ์” ที่กล่าวกันว่าจะช่วยสร้างบุคคลให้เป็นพหูสูต อันหมายถึง เป็นผู้มีปัญญารอบรู้ เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาการมาก สามารถทรงจำไว้ได้เป็นอย่างดีจนกลายเป็นผู้รู้หรือปราชญ์ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ใดก็ตามที่เป็นผู้มีปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือเรื่องการทำงาน ย่อมทำให้คนผู้นั้นเรียนดีและมีความสามารถในการทำงานเก่งอย่างไม่ต้องสงสัย
"หัวใจนักปราชญ์” ประกอบด้วย "สุ จิ ปุ ลิ” คือ สุ ย่อมาจาก สุตะ คือ การฟัง จิ ย่อมาจาก จินตะ คือ การคิด ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา คือ การถาม และ ลิ ย่อมาจาก ลิขิต คือ การเขียน ทั้งสุ จิ ปุ ลิ ต่างเป็นแนวทางที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดผลเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ดังนี้
๑. สุ คือ สุตะ หมายถึง การฟัง นับเป็นทักษะพื้นฐานที่สุดในการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ นับตั้งแต่สมัยโบราณมาการศึกษาเล่าเรียน ก็คือ การสดับตรับฟังคำสอนของครูบาอาจารย์หรือจากปราชญ์ผู้รู้ ผู้ใดที่ฟังมาก ย่อมได้รับความรู้มาก และรอบรู้กว้างขวางกว่าผู้อื่น ต่อมาเมื่อเรามีหนังสือหนังหา "การอ่าน” ก็นับเป็น สุตะ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฟังหรือการอ่าน ต่างเป็นก็เป็นการรับข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษาหาเล่าเรียน ยิ่งสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกล เราก็ยิ่งสามารถเรียนรู้ได้สารพัดวิชาจากการฟังและการอ่านอย่างหลากหลายเพิ่มขึ้น และเมื่อได้อ่านได้อ่านได้ฟังมากขึ้น ความรู้ก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมี สุตะ แล้ว ก็ยังต้องมี "จิ ปุ ลิ” มาเสริมด้วย มิฉะนั้นข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับอย่างมากมายนั้น อาจทำให้เรากลายเป็นผู้ "มีความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด” ได้
๒. จิ คือ จินตะ หมายถึง การคิด เป็นสิ่งต่อเนื่องจากการฟังหรือการอ่าน กล่าวคือ เมื่อเราได้ฟังได้อ่านสิ่งใดแล้วก็ตาม โดยทั่วไป คนเราจะคิดไตร่ตรอง หรือวิเคราะห์สิ่งที่ฟังหรืออ่านในใจไปด้วย (ยกเว้นว่าจิตใจจะเหม่อลอยหรือไปคิดเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ฟังหรืออ่านอยู่) จากนั้นก็นำข้อมูลเหล่านี้มาจัดระบบเป็นความคิดของเรา ซึ่งหากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ เราก็อาจจะจดหรือจำไว้ เพื่อค้นคว้าหาคำตอบต่อไป การคิดจึงเป็นกระบวนการย่อยหรือแยกแยะสิ่งที่ได้ฟังได้อ่านมาเป็นความรู้ของเราเอง และทำให้คนผู้นั้นเกิดปัญญาอันมาจาก ความคิดนั้นได้ แต่แม้จะได้อ่านได้ฟังข้อมูลข่าวสารมามากมายเพียงใด ก็ต้องรู้จักตรึกตรองวิเคราะห์ให้รอบ มิเช่นนั้นเราจะตกเป็น "เหยื่อ” ได้ง่าย แต่ถ้าเรารู้จัก "คิด” ก็จะเกิด "ปัญญา”ตามมา
๓. ปุ คือ ปุจฉา หมายถึง การถาม จาก ๒ ข้อแรก เมื่อเราอ่านฟัง และคิดแล้วก็ตาม หลายครั้งเราก็อาจเกิดข้อสงสัยไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจ คิดไม่ตก หรือแก้ปัญหาไม่ได้ ฯลฯ สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การถาม ด้วยการสอบถามจากครูบาอาจารย์ ผู้มีความรู้ หรือมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องอาย หรือทนงตนคิดว่าตัวเองเหนือกว่า เพราะโดยแท้จริงแล้วไม่มีใครรอบรู้ไปทุกเรื่อง เช่น แม้เราจะมีความรู้เรื่องการปลูกข้าวจากหนังสือหรือจากอินเตอร์เนทอย่างกว้างขวาง แต่บางเรื่องเราอาจจะรู้ไม่เท่าชาวนาผู้มีประสบการณ์ปลูกข้าวอย่างแท้จริง ดังนั้น อย่าคิดว่าชาวนามีความรู้ต่ำต้อยกว่าเรา จนไม่กล้าถามหรือดูถูกเขา และไม่ว่าจะถามผู้ใด เราต้องมีความจริงใจ มิใช่ถามเพื่อสอบไล่ความรู้ ขัดคอเขา หรือข่มเขาให้ได้อาย เพราะมิเช่นนั้น เราจะเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย
๔. ลิ คือ ลิขิต หมายถึง การเขียน เป็นข้อสุดท้ายและสำคัญที่สุดของ "หัวใจนักปราชญ์” เพราะการเขียนเป็นดังบทสรุปของการฟัง (อ่าน) คิด ถาม เพราะคนที่จะ "เขียน” ได้ นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ จนสามารถเรียบเรียงสิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นความรู้ให้ผู้อื่นเข้าใจหรือรับรู้ได้ ยิ่งสมัยก่อนที่มีผู้รู้หนังสือน้อย ใครก็ตามที่เขียนได้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถที่มากกว่าผู้อื่น ในปัจจุบัน แม้จะบอกว่าทุกคนล้วนแต่ "เขียน” ได้ แต่ก็มิใช่ว่าแต่ละคนจะสามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการหรือแสดงความคิดของตนเองผ่านการ "เขียน”ได้ดีทุกคน การเขียนจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้อื่นได้รับรู้ความคิดของเรา
จะเห็นได้ว่า "สุ จิ ปุ ลิ” หรือ "หัวใจนักปราชญ์” ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นดังเคล็ดลับที่ผู้ที่อยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงาน หากได้นำไปปฏิบัติล้วนก่อให้เกิดผลที่จะทำให้เรียนดีและทำงานเก่งได้ทุกคน เพราะสุ จิ ปุ ลิ จะทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยเรียน เป็นผู้ใฝ่รู้และขยันหมั่นเพียน ส่วนผู้อยู่วัยทำงาน สุ จิ ปุ ลิ ก็จะทำให้ผู้นั้นแสวงหาความรู้ เพื่อความก้าวหน้าในงานของตนอยู่เสมอ
..................................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม